‘เมียนมา’ดึงทุนต่างชาติพัฒนา ‘ย่างกุ้งสมาร์ทซิตี้’
หวังชูให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจในเมียนมาที่ก้าวล้ำสมัย และเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ 26 แห่งในอาเซียน
เมืองอัจฉริยะย่างกุ้ง หรือย่างกุ้งสมาร์ทซิตี้ เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาประเทศที่รัฐบาลเมียนมาได้เร่งผลักดันโครงการให้เริ่มดำเนินการทันที หวังชูให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจในเมียนมาที่ก้าวล้ำสมัย และเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ 26 แห่งในอาเซียน
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา จัดงานเสวนาการลงทุน“เมียนมา อินไซต์ 2019”ครั้งที่ 4เพื่อติวเข้มและชี้ช่องโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดตลาดในเมียนมา โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล และเชี่ยวชาญด้านการค้าจากเมียนมาร่วมเปิดมุมมองที่มีต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ธุรกิจดาวรุ่ง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ๆ แบบเจาะลึกทุกมิติ
สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณนครย่างกุ้งกล่าวว่า เวทีนี้มุ่งสร้างประสบการณ์เชิงลึกด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมา เพราะเชื่อว่านักลงทุนไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปขยายตลาดการค้าในเมียนมา ซึ่งการลงทุนถือว่ามีพลังอำนาจมากในการช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าของ 2 ประเทศให้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
ตอง ตุน รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมากล่าวถึงโอกาสของนักธุรกิจไทยในการเข้าลงทุนเมียนมาว่า รัฐบาลเมียนมาเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 20 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2554-2574โดยให้ความสำคัญต่อภาคการค้าและการลงทุน รวมถึงการระดมการลงทุนจากต่างชาติสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเมียนมาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศให้กินดีอยู่ดีแบบยั่งยืน
รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนฯ เมียนมายังชี้ว่าขณะนี้รัฐบาลเปิดให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้าร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบการเงินและการธนาคารของเมียนมา (e-Banking Project) โครงการลงทุนด้านไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก และโครงการพัฒนาระบบธุรกิจค้าส่งและค้าดิจิทัลโดยผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามาแสวงหาประโยชน์ด้านการค้าและขยายฐานการผลิตมายังเมียนมาได้
ธนาคารโลก จัดทำรายงานการประเทศที่มีความง่ายต่อการประกอบธุรกิจปี 2562ซึ่งเมียนมาอยู่ในอันดับที่ 171 จาก 190 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตการก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การขอสินเชื่อ การคุ้มครองนักลงทุน การชำระภาษี มูลค้าการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา
ทั้งนี้ เมียนมาตั้งเป้าหมายปรับไปสู่การเป็นประเทศที่มีความยากง่ายต่อการประกอบธุรกิจอันดับที่100 ภายในปี 2563-2564 และกระโดดไปอยู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2578-2579
ด้านอ่อง หน่าย อู ปลัดกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมากล่าวว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)ในเมียนมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 - พ.ค. 2562 พบว่า คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา ได้อนุมัติการลงทุนคิดเป็นมูลค่าเกือบ2,500ล้านดอลลาร์ โดยมีสิงคโปร์เข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 มูลค่าราว1,600 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นจีนและฮ่องกงขณะที่ไทยเข้าไปลงทุนเป็นอันดับ 4 ในเมียนมา มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 118.6 ล้านดอลลาร์
เมียว ข่าย อู ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการด้านการลงทุนในเมียนมา (ดีไอซี)เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดให้ต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อการพัฒนาย่างกุ้งสมาร์ทซิตี้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 แสนตร.กม. เนื่องจากรัฐบาลมองว่าย่างกุ้งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งปัจจุบันการค้าการลงทุนรวมตัวกันอยู่ที่นี่ คิดเป็นสัดส่วน 85% ของการค้าการลงทุนในประเทศทั้งหมด
“เราต้องการพัฒนาให้ย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยในประเทศ ภายใต้แนวคิดโครงการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจสีเขียว เพียบพร้อมไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่่ตอบโจทย์สังคมธุรกิจการค้า และรองรับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในและนอกเขตเมืองรวมกันกว่า 7.3 ล้านคน”เมียว ข่าย อู ระบุ
ผอ.ดีไอซี กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาเมืองย่างกุ้งสมาร์ทซิตี้ ได้เปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด เพื่อเข้ามาลงทุนในประเภทธุรกิจที่เมียนมาต้องการ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์ และขยายฐานรองรับอุตสาหกรรมที่อยู่ชานเมืองย่างกุ้ง รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 10 ปีข้างหน้า
เมียนมา มีแผนพัฒนาในศูนย์กลางธุรกิจระยะทาง 8 กม. โครงการปรับปรุงถนนที่ครอบคลุมภายในเขตเมืองและปริมณฑลของย่างกุ้ง ประมาณ 10,500 ตร.กม. การสร้างทางด่วนวงแหวนในย่างกุ้ง ระยะทาง 27.5 กม. และถนนทางหลวงย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ระยะทางประมาณ620 กม.
อย่างไรก็ตาม เมียนมายังเปิดให้ร่วมลงทุนก่อสร้างโครงสร้างบ้านพักอาศัยรองรับประชาชนในเมืองประมาณ 40,000ครัวเรือน และห้องชุดอพาร์ตเมนต์อีกประมาณ13,000 ครอบครัว
โครงการที่พักอาศัยคิดเป็นพื้นที่มากกว่า60% ของเมืองมุ่งเน้นเป็นอยู่อาศัยราคาไม่สูง มีความเป็นส่วนตัว และสามารถเปิดให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ได้อีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สอบเครียด4เมียนมาร์ คดีฆ่าชาวจีนหมกทิ้งห้องพัก
-เมียนมาระดมทหารช่วยเหยื่อน้ำท่วม
-โคลนถล่ม 'เมียนมา' คนกว่า 9 หมื่นไร้บ้าน
-รวบคนใช้พม่าจอมแสบ ลักทรัพย์ชาวปากีสถาน