‘มุน แจ อิน’ หนุนนักธุรกิจเกาหลีใต้เชื่อมไทยแลนด์ 4.0
ประธานาธิบดี มุน แจ อิน มุ่งหน้าผลักดันความร่วมมือนโยบายใต้ใหม่ หนุนนักธุรกิจเกาหลีใต้เชื่อมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เผยเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าไอโอนิกคันแรกในกรุงเทพฯ ชวนไทยผลิตรถยนต์อัตโนมัติใช้เทคโนโลยีสูง
นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวปาฐกถาภายในงานไทย - เกาหลีใต้ บิสสิเนส ฟอรัม 2019 ซึ่งจัดที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในระหว่างที่การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ในระหว่างวันที่ 1-3 ก.ย. 62 โดยนายมุนกล่าวตอนหนึ่งว่า เกาหลีใต้มองประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย ผลิตยาและเภสัชกรรม ท่องเที่ยวและยานยนต์ที่ทันสมัย
นายมุน กล่าวว่า ในโอกาสนี้ได้นำคณะนักธุรกิจระดับสูงเกาหลี ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และสื่อมวลชน มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยครั้งประวัติการณ์ในงานไทย-เกาหลีใต้ บิสสิเนส ฟอรัม ซึ่งมีนักธุรกิจเกาหลีและไทยและเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าร่วมรวมกว่า 600 คนว่า การค้าไทยและเกาหลีใต้ มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยปีล่าสุด มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 14,000 ล้านดอลลาร์ และมีประชาชน 2 ประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันมากกว่า 2.3 ล้านคน
"ขณะนี้ทางรัฐบาลเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอาเซียนภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ซึ่งคาดหวังจะเพิ่มพูนความร่วมมือกับไทยมากขึ้น โดยเกาหลีใต้พร้อมจะสนับสนุนไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของเอเชีย"
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มองว่า ไทยมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือภายใต้นโยโบายมุ่งใต้ใหม่ ซึ่งจะเน้นใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เดินหน้าร่วมมือปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ร่วมกัน สอดคล้องกับการที่การที่ประเทศไทยกำหนดนโยบายประเทศไทย 4.0 เน้นพัฒนาใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเกาหลีใต้สนใจจะร่วมมือกับไทยในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง และการผลิตรถยนต์อัตโนมัติ โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นไอโอนิก (IONIG) ที่ได้รับความนิยมมากในเกาหลีใต้ ที่ประเทศไทย
2. ร่วมกันเสริมสร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศไทยเติบโตขึ้นมาก ด้านประเทศเกาหลีใต้มีสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมี 9 ยูนิคอร์น ดังนั้นความร่วมมือระหว่างกันจะเป็นจึงเป็นโอกาสที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ และ 3. ไทยและเกาหลีใต้จะร่วมกันในเวทีการค้าโลกที่เสรีและเป็นธรรม ช่วยเกษตรกรที่ยากจน สู่การเป็นระดับชั้นนำในเอเชีย และต่อต้านลัทธิปกป้องการค้า เร่งหาข้อตกลงเศรษฐกิจภูมิภาค และร่วมมือการค้าภายใต้ระบบพหุภาคีที่โปร่งใส และเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 ถึงเดือน มิ.ย. 2562 มีบริษัทชั้นนำจากเกาหลีใต้ลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 380 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกันกว่า 42,000 ล้านบาท อาทิ กลุ่มบริษัทในเครือพอสโก้ ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของเกาหลีใต้ กลุ่มบริษัทในเครือซัมซุง แอลจี และฮันออน ซิสเต็มส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท สุมิเดน ฮโยซอง สตีล คาร์ด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท ฮานซอล เทคนิคส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น