'เอสเอ็มอีผู้พิการสายตา' อาเซียนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"ปักจิตปักใจ" เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพและสร้างโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตาทางภาคเหนือ หนึ่งในตัวอย่างที่รัฐบาลให้การสนับสนุนตามแนวทางมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมที่มี “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนในทุกมิติแท้จริง"
"ปักจิตปักใจ" เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพและสร้างโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตาทางภาคเหนือ ซึ่งดำเนินการตามแนวคิดหลักปีที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ที่ว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายและความท้าทายด้านการพัฒนาร่วมกัน ดึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันวางรากฐานให้ประชาคมอาเซียน มุ่งไปสู่การเป็นประชาคมที่มี “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนในทุกมิติที่แท้จริง”
ภวิญญา แก้วนันตา หรือป้าหนู ซึ่งเป็นครูผู้สอนการปักผ้าสไตล์ซาชิโกะ กล่าวว่า เพจปักจิตปักใจ แพลตฟอร์มแสดงสินค้าหัตถกรรมผ้าปักลายที่ได้รวบรวมจากผลงานของ “ผู้พิการทางสายตา” เกิดขึ้นจากความสามารถทางกายสัมผัสที่สร้างสรรค์ศิลปะบนผืนผ้า ด้วยด้ายเส้นใหญ่ เข็มปักและวิธีการปักผ้าที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ซาชิโกะ สไตล์ญี่ปุ่น
"ทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยร่วมกับอาสาสมัครได้เปิดให้การอบรม เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพและพัฒนาทักษะให้แก่ผู้พิการทางสายตาในจ.เชียงใหม่ ตลอดจนพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย"
ภวิญญา เผยว่า ผู้พิการทางสายตาจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มข้นจนชำนาญ เริ่มต้นจากการฝึกสนเข็ม ซึ่งทางสมาคมฯได้ใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเครื่องสอดด้ายเข้ารูเข็มปักผ้าที่มีลูกกระพรวนเข้ามาประกอบช่วยเพิ่มทักษะการได้ยิน โดยขั้นตอนการสนเข็มถือเป็นปราการด่านแรกให้ผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการต้องผ่านด่านนี้ไปให้ได้ก่อนไปสู่ขั้นตอนงานปักผ้าตามแบบฉบับงานศิลปะสไตล์ญี่ปุ่น
งานปักผ้าซาชิโกะ เป็นรูปแบบการเย็บด้วยมือของชาวญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งใช้วิธีเย็บแบบง่าย ๆ คือ การด้นตะลุย เป็นลวดลายซ้ำ ๆ หรือสานกันเป็นลวดลายต่าง ๆ คล้ายงานปักด้นของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
"งานปักผ้าซาชิโกะ เป็นศิลปะหัตถกรรมที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นทุกจังหวะฝีเข็ม สืบทอดกันมาตั้งแต่ในยุคเอโดะ ที่เมืองทาคายาม่า ทางภาคกลางตอนเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งศิลปะดังกล่าวมีขึ้นในสมัยญี่ปุ่นเกิดสงครามกลางเมือง เพราะสหรัฐเข้ารุกรานประเทศและพยายามเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชายหนุ่มที่เป็นซามูไรต้องออกจากบ้านไปทำการรบ ขณะที่หญิงสาวที่อยู่เฝ้าบ้านก็ใช้เวลาไปกับการปักผ้าไว้รอให้ชายผู้เป็นที่รัก ในเวลากลางคืนซึ่งไม่มีแสงจากไฟฟ้า เทียน หรือเครื่องให้แสงสว่างใด ๆ" ป้าหนูเล่า
นี่เป็นเอกลักษณ์งานศิลปะผ้าปักประเภทนี้ ได้นำมาประยุกต์เป็นงานฝีมือของผู้พิการทางสายตา โดยส่วนใหญ่งานปักผ้าซาชิโกะจะใช้ด้ายสีขาวบนผ้าพื้นสีน้ำเงินเข้มที่เป็นผ้าย้อมให้ความทนทาน
นอกจากนี้ ลายปักซาชิโกะส่วนใหญ่มักมีรูปทรงเรขาคณิต และยังดัดแปลงจากลายปักของจีน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายช้าง ลายคลื่น ลายภูเขา ลายต้นสน และลายเมล็ดข้าว
“สำหรับผลงานแต่ละชิ้นจะเน้นคุณภาพ ใช้ประโยชน์ได้จริง รวมไปถึงผู้ใช้ต้องรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ โดยผลงานผ้าปักทุกผืนจะปรากฏเป็นอักษรตัวเบรลแสดงตัวย่อของศิลปินปักผ้า เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของผลงานหัตถกรรมได้สัมผัสถึงความตั้งใจที่ส่งผ่านฝีเข็มอันมีความเฉพาะตัวจารึกไว้ แทนความหมายแห่งการร่วมกัน และจุดเชื่อมโยงภายในสังคม” ป้าหนูระบุ
ป้าหนูยังบอกว่า ผ้าทุกผืนผ่านการตรวจสอบความเรียบร้อยที่มาจากช่างปักที่มีความชำนาญผ่านเกณฑ์คุณภาพ ซึ่งสมาคมฯ ได้กำหนดหลักสูตรการปักผ้าซาชิโกะไว้ทั้งหมด 6 สัปดาห์ โดย 1 สัปดาห์จะเรียน 2 วัน เรียงจากความง่ายไปหาความซับซ้อนมาก และลวดลายที่หลากหลายนอกจากทรงเรขาคณิต
"ขณะนี้มีผู้ที่ผ่านหลักสูตรนี้แล้วจำนวน 27 คน และผลงานของพวกเขาได้ถูกจัดวางไว้ในเพจปักจิตปักใจ มีทั้งกระเป๋าผ้า ซองใส่ดินสอ ปกสมุด และผ้าพันคอ ส่วนรายได้จะแบ่งให้กับสมาชิกโครงการจากการจำหน่าย 2 ใน 3 ของราคาสินค้า โดยที่พวกเขาไม่ต้องลงทุนกับพวกวัสดุอุปกรณ์ แต่ทางสมาคมฯได้จัดเตรียมไว้ให้แล้ว"
นอกจากนี้ ป้าหนูเผยด้วยว่า ทางสมาคมฯ มีแผนที่จะขยายโอกาสการสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตา นอกเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ไปยังอ.แม่ริม และอ.แม่แตง เพื่อสร้างฐานการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับจำนวนยอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากผ่านเพจปักจิตปักใจ และพร้อมรับกับการขยายตลาดไปไปยังอาเซียนและนอกภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม โครงการปักจิตปักใจเป็นต้นแบบของกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบธุรกิจชุมชน ที่สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการให้กำลังใจให้กับคนตาบอดในการสร้างอาชีพอีกด้วย