'จีน-โสมแดง' ติดกลุ่มคุมเข้มสื่อมากสุดในโลก
องค์กรตรวจสอบสื่อเผย เอริเทรียเป็นประเทศที่คุมสื่อเข้มงวดที่สุดในโลก ขณะที่เกาหลีเหนือ จีน ซาอุฯ มีมาตรการคุมสื่อรุนแรงไม่แพ้กัน
คณะกรรมการปกป้องนักข่าว (ซีพีเจ) องค์กรจับตาสื่อที่มีฐานปฏิบัติการในสหรัฐ เผยแพร่รายงานวานนี้ (10 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ระบุ เอริเทรีย เกาหลีเหนือ และเติร์กเมนิสถาน เป็น 3 ประเทศที่ควบคุมสื่อเข้มงวดที่สุดในโลก สื่อทั้งสามประเทศทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ ถ้ามีงานข่าวอิสระก็เป็นงานที่ต้องทำจากนอกประเทศ
ในเอริเทรียรัฐผูกขาดสื่อแต่เพียงผู้เดียว และรัฐยังควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อตัดเส้นทางสื่อทางเลือกอย่างสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมหรือสถานีวิทยุออกอากาศจากต่างแดน
ส่วนที่เกาหลีเหนือ นายคิม จองอึน เร่งใช้เครื่องตัดสัญญาณวิทยุและเครื่องตรวจจับสัญญาณ ป้องกันไม่ให้ประชาชนแชร์ข้อมูลข่าวสาร
ประเทศอื่นๆ ที่ติดกลุ่มท็อปเท็นคุมเข้มสื่อ ใช้กลวิธีต่างๆ นานา ทั้งเล่นงานกันตรงๆ เช่น ข่มขู่ ควบคุมตัวโดยพลการ ไปจนถึงการสอดแนมอันซับซ้อน และตกเป็นเป้าถูกล้วงข้อมูล เพื่อปิดปากสื่ออิสระ
ซาอุดีอาระเบีย จีน เวียดนาม และอิหร่าน มีพฤติกรรมจำคุกและคุกคามนักข่าวและครอบครัว ตรวจสอบในโลกดิจิทัล เซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
ที่ซาอุดีอาระเบีย บรรยากาศการทำงานของสื่อที่เข้มงวดอยู่แล้ว ยิ่งถดถอยลงไปอีกในยุคของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัย
ส่วนจีนรายงานระบุว่า มีเครื่องมือเซ็นเซอร์สื่อซับซ้อนที่สุด รัฐบาลใช้เดอะเกรทไฟร์วอลล์บล็อกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีน ทางการจับตาเครือข่ายโซเชียลมีเดียในประเทศ และสอดแนมนักข่าวต่างชาติ
อีก 3 ประเทศในกลุ่มท็อปเท็น ได้แก่อิเควทอเรียล กินี, เบลารุส และคิวบา
การจัดอันดับครั้งนี้ซีพีเจดูจากหลายปัจจัย เช่น ความยากง่ายในการเป็นเจ้าของสื่อหรือทำสื่ออิสระ กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา กฎหมายว่าด้วยการเผยแพร่ข่าวลวง การปิดเว็บไซต์ ทางการสอดแนมนักข่าว การออกใบอนุญาตสื่อ และการตกเป็นเป้าถูกล้วงข้อมูลและถูกคุกคามผ่านโลกออนไลน์
นายโจเอล ไซมอน กรรมการบริหารซีพีเจ เผยว่า อินเทอร์เน็ตควรทำให้การเซ็นเซอร์สื่อกลายเป็นเรื่องล้าสมัย แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย
“หลายประเทศที่ควบสื่อเข้มงวดที่สุดในโลก ล้วนเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตกันมาก ชาวเน็ตตื่นตัวสูง แต่รัฐบาลเหล่านั้นก็ใช้วิธีการแบบเก่าผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ที่ซื้อจากบริษัทตะวันตกใช้เล่นงานคนคิดต่างและควบคุมสื่อ”