สิงคโปร์จีบแบงก์ต่างชาติ หวังนั่งแท่น 'ฮับ' การเงิน
การหั่นแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือฮ่องกงครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง
ในช่วงที่ฮ่องกงกำลังเผชิญวิกฤติที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อย่างเข้าเดือนที่4 จนทำให้ความน่าเชื่อถือของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคเอเชียเริ่มสั่นคลอน สิงคโปร์ กลายเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการซวนเซของฮ่องกงไปเต็มๆ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมที่พัก หรือแม้กระทั่งธุรกิจธนาคาร จนทำให้สิงคโปร์วาดฝันว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น“ฮับ”การเงินของภูมิภาคแทนที่ฮ่องกง ฝันนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ ติดตามได้จากรายงาน
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อแถมยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงเมื่อใด ทำให้ฮ่องกงในสายตานักลงทุนต่างชาติดูไ่ม่สู้จะดีนัก โดยเฉพาะนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่า ฮ่องกง ยังมีศักยภาพพอที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินเหมือนเดิมหรือไม่
ล่าสุด มูดีส์ อินเวสต์เมนท์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับชั้นนำของโลก หั่นแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของฮ่องกงเป็น“ลบ”จาก“เสถียรภาพ”สะท้อนสิ่งที่มูดีส์มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกัดเซาะความแข็งแกร่งของสถาบันต่างๆของฮ่องกงขณะที่การชุมนุมประท้วงยังคงดำเนินอยู่และมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ
“การหั่นแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือฮ่องกงครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหากการชุมนุมประท้วงยังคงเกิดขึ้นและเป็นปัญหาการเมืองของฮ่องกงที่ยืดเยื้อยาวนาน”แถลงการณ์ของมูดีส์ ระบุ
การหั่นแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของมูดีส์ มีขึ้นหลังจากฟิตช์ เรตติ่้ง ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของฮ่องกงเป็น “AA” จาก “AA+”
ขณะที่ ความน่าเชื่อถือของฮ่องกงลดลงอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์ กลับดูโดดเด่นและถูกจับตามองแทนที่ฮ่องกงทันที โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ(บีไอเอส)ระบุว่า ขณะที่ปริมาณการค้าอัตราแลกเปลี่ยนในฮ่องกงปรับตัวลดลงเพราะปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ในสิงคโปร์กลับตรงกันข้าม ปริมาณการค้าอัตราแลกเปลี่ยนในสิงคโปร์เดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 22% เป็น 633,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 มากกว่าฮ่องกง ซึ่งมีปริมาณการค้าด้านนี้ที่ 632,000 ล้านดอลลาร์
เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้เชื้อเชิญธนาคารชั้นนำของต่างชาติหลายแห่งเข้ามาตั้งฐานดำเนินงานในประเทศ ไล่ตั้งแต่ ธนาคารยูบีเอส ซิตี้กรุ๊ป สแตนดาร์ด ชาร์เติร์ด และเจพีมอร์แกน เชส เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางปริวรรติเงินตราแห่งภูมิภาคเอเชีย นี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลสิงคโปร์ พยายามดึงดูดบริษัทต่างๆเข้ามาตั้งแพลทฟอร์มการค้าอัตราแลกเปลี่ยนทางอิเล็กทรอนิกส์
นายลอว์เรนซ์ โลห์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อธรรมาภิบาล สถาบัน และองค์กรจากโรงเรียนธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า วิกฤติทางการเมืองของฮ่องกงบั่นทอนชื่อเสียงของเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย
“สิงคโปร์จะได้รับผลประโยชน์บางอย่างโดยทันที” นายโลห์ระบุ พร้อมยกตัวอย่างรายงานข่าวที่ว่ามหาเศรษฐีหลายรายเริ่มย้ายเงินลงทุนออกจากฮ่องกงแล้ว
ฮ่องกงและสิงคโปร์แข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งจุดหมายปลายทางทางการเงินอันดับ 1 ของเอเชียมานานหลายปี ด้วยการดึงดูดธุรกิจระหว่างประเทศจากทั่วโลก แต่การที่คณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเกิดกระแสความกังวลในแวดวงธุรกิจ และส่งผลให้ชาวฮ่องกงมากถึง 2 ล้านคนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน
ความรู้สึกไม่มั่นคงของบรรดาบริษัทไม่เพียงมาจากการชุมนุมครั้งใหญ่เท่านั้น แต่ยังมาจากการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งภาคเอกชนเกรงว่าอาจทำลายชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะสถานที่ปลอดภัยสำหรับทำธุรกิจ
กลุ่มที่คัดค้านวิตกว่าร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะทำให้ประชาชนต้องตกอยู่ใต้ระบบยุติธรรมที่คลุมเครือและเต็มไปด้วยการเมืองของจีน และเป็นภัยคุกคามต่อผู้วิจารณ์นโยบายของปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม เบนนี เจย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานการเงินสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส)ระบุว่า การจะเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศได้ สิงคโปร์ จำเป็นต้องมีผู้เล่นรายใหญ่ๆอีก3 ถึง 5 ราย เพื่อสร้างแพลทฟอร์มการซื้่อขายอิเล็กทรอนิกส์
“เรามีความมั่นใจว่าเราจะได้ผู้เล่นรายใหญ่ๆครบตามที่ตั้งเป้าไว้และขณะนี้เราได้หารือกับบรรดาผู้เล่นที่มีศักยภาพทุกราย การเติบโตของปริมาณการค้าในเอเชียและในตลาดเกิดใหม่ ทำให้สิงคโปร์ ถูกมองว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ธุรกิจด้านนี้ขยายตัว”นายเจย์ กล่าว
ดูเหมือนว่า ความฝันของสิงคโปร์ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม โดยเฉพาะเมื่อการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงยังคงดำเนินต่อไป ตลาดที่มีเสถียรภาพอย่างสิงคโปร์ ย่อมดึงดูดใจนักลงทุนมากกว่าตลาดที่มีแต่ความวุ่นวายทางการเมืองอย่างฮ่องกง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ม็อบฮ่องกงโวยถูกแก๊งอันธพาลทำร้าย
-'ศ.ดร.เอนก' วิเคราะห์ 'ฮ่องกง: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต'
-'กลุ่มประท้วงฮ่องกง' ยืนหยัดกลางพายุฝน
-ม็อบฮ่องกงปะทะเดือดตำรวจปราบจลาจล