กูรูแนะกลยุทธ์ ‘เคโอแอล’ สร้างแบรนด์บุกตลาดจีน
แม้ปัจจุบัน วิธีทำการตลาดแบบเคโอแอล จะได้รับความนิยมมากในจีน แต่ก็ต้องพิจารณาเลือกพรีเซนเตอร์ให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า และสินค้าด้วย
ปัจจุบัน มูลค่าค้าปลีกในตลาดอีคอมเมิร์ซจีนคาดเติบโต 37% ในปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมชอปปิงทางออนไลน์มากขึ้น
ขณะเดียวกัน เทรนด์วิธีทำการตลาดแนวใหม่ที่เรียกว่า เคโอแอล (Key Opinion Leader) ซึ่งใช้ผู้มีอิทธิพลในสังคม เช่น ดารา นักร้อง เซเลบ หรือเน็ตไอดอล เข้ามาช่วยรีวิวและชี้นำสินค้าก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน
ฮง ฉาง คิท ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน กล่าวถึงกลยุทธ์ทำการตลาดในประเทศจีนว่า ผู้ประกอบเอสเอ็มอีไทยต้องเร่งปรับตัวนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ เพื่อตอบสนองรูปแบบการช้อปปิ้งของกลุ่มลูกค้าชาวจีน รวมทั้งต้องศึกษาแนวโน้มวิธีทำการตลาดให้สามารถเจาะถึงกลุ่มเป้าหมาย อย่างวิธีทำการตลาดแบบรีวิวสินค้า (Seeding Marketing) เพื่อสร้างความเป็นตัวตนให้กับสินค้าในเวลารวดเร็ว
ฮง ได้อธิบายวิธีทำการตลาดในรูปแบบนี้ว่า เป็นการช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนเข้าถึงสินค้า และเรียกความเชื่อมั่นในแบรนด์ ผ่านการทำคอนเทนต์บนช่องทางต่าง ๆ เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่จะค้นหาข้อมูลและรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและความน่าเชื่อถือของร้านค้าออนไลน์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้าโดยตรง
"วิธีการรีวิวสินค้าแบบเคโอแอล จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำตลาดทางโลกออนไลน์ อย่างการใช้เน็ตไอดอลทำการรีวิวสินค้าหรือทำคอนเทนต์ เพื่อเผยแพร่บนแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ยอดนิยมของจีน อย่าง เรดบุ๊ค , ติ๊กต๊อก หรือ เว่ยป๋อ ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ก็เพื่อเข้าถึงและโดนใจผู้บริโภคชาวจีนได้ดีกว่าป้ายโฆษณาทั่วไป" ผอ.สมาคมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จีนยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจเลือกโฆษณาสินค้าบนแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวของจีน อย่าง ทราเวลาโก ฟลิกกี้ หรือแม้แต่การทำโฆษณาบนวีแชทมินิโปรแกรม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าแบบผสมผสานออนไลน์ไปยังออฟไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะมีจุดเด่นในการให้ข้อมูลสถานที่ ร้านอาหาร แหล่งชอปปิงที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าโดยตรงจากผู้ขายได้ทันทีหลังจากค้นพบสินค้าที่ต้องการ
ฮง ชี้ว่า สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน ได้แก่ เถาเป่า ซึ่งมีกลุ่มคนในช่วงวัยกลางคนเป็นฐานผู้ใช้งานที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงมาอยู่ในช่วงประมาณ 20-30 ปีที่มีกำลังซื้อสูง เริ่มหันไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่น ๆ กันมากขึ้น เช่น จินตง ดอทคอม หรือ ทีมอลล์ เพราะมีความเชื่อถือในเรื่องคุณภาพสินค้า และร้านค้าจะต้องผ่านการจดทะเบียนร้านค้ามาก่อน ดั่งจะเห็นได้ว่า มีแบรนด์สินค้าระดับโลก เข้ามาเปิดร้านบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ ดังนั้นเอสเอ็มอีไทยควรศึกษาและเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมที่สุดกับสินค้าของตัวเอง เพื่อไม่เสียเวลาลองผิดถูก และช่วงชิงการแข่งขันทางการตลาดในระยะเวลารวดเร็ว
ด้าน อาร์เธอร์ เหยียว รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท INnSHINE ซึ่งเป็นมาร์เก็ตติ้ง เอเจนซี่ ชื่อดังของจีน กล่าวว่า ก่อนบุกตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาพฤติกรรมการใช้มือถือของคนจีน เพื่อใช้ประโยชน์จากการแทรกโฆษณาสินค้าในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานมือถือของผู้บริโภคชาวจีน แบ่งเป็น 5 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.ใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อการสนทนา 2.ความบันเทิงผ่านทางมือถือ 3.เล่นเกม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมบนมือถือ 4.ช้อปปิงออนไลน์ และ 5. ชำระเงินซื้อสินค้าและบริการที่แพร่หลายทั่วประเทศจีน
เหยียว กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าปัจจุบัน วิธีทำการตลาดแบบเคโอแอล จะได้รับความนิยมมากในจีน แต่ก็ต้องพิจารณาเลือกพรีเซนเตอร์ให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า และสินค้าด้วย เช่น เมื่อพูดถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ก็ควรจะใช้พรีเซนเตอร์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำหน้าที่ ขณะที่การส่งเสริมแบรนด์สินค้าก็ควรเลือกใช้พรีเซนเตอร์อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการแบ่งกันทำหน้าที่ เพื่อสร้างความจดจำให้กับสินค้าได้ดียิ่งขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชาวจีนยกเลิกทัวร์ฟาร์มสหรัฐฉุดดาวโจนส์ร่วง
-'สหรัฐ-จีน' ฟื้นเจรจาเทรดวอร์
-ลุ้นแผนกดดันจีนของ“โจชัว หว่อง”
-นักเดินทาง 'จีน' ขาลง ฉุดท่องเที่ยว 'อาเซียน'