"Moonshot Thinking" แนวคิดติดจรวด สร้างธุรกิจยั่งยืน
"Moonshot Thinking" แนวคิดติดจรวด สร้างธุรกิจยั่งยืนในช่วงที่ผู้ประกอบการ และกลุ่มภาคอุตสาหกรรม พยายามบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล เพื่อทำให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมีการบริโภค การผลิตที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบนโลก
ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน หวังกระตุ้นภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ตื่นตัวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แหล่งสร้างขยะสู่โลกมากกว่า 23% ข้อมูลระบุว่า ขยะที่ก่อให้เกิดมลพิษ และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า จะมีสูงถึง 3.4 พันล้านตันในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มมากกว่าจำนวนประชากรโลกกว่า 2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
มาร์ค บัคลีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ชาวเยอรมนี หยิบยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นกล่าวในเวทีบรรยายเรื่องการออกแบบโมเดลสังคมธุรกิจยุคใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในต้นสหัสวรรษที่ 20 โดยชี้ว่า นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศสมาชิกยูเอ็นต้องร่วมกันประกาศเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อปี 2556 ถือเป็นครั้งแรกที่ภารกิจความมุ่งมั่นระดับโลกถือกำเนิดขึ้น หวังแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนทั้งในเชิงสังคม และสิ่งแวดล้อมที่โลกเผชิญอยู่เพื่อให้แน่ใจว่า โลกจะดีขึ้นภายในปี 2573
บัคลีย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ยูเอ็นทำงานกับเครือข่ายเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ศึกษาโมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำระดับโลก เพื่อเรียนรู้ถึงแนวทางที่ทำให้ธุรกิจมีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบบนิเวศทางธรรมชาติ และเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งนำมาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมทั่วโลก
บัคลีย์ ชี้ว่า กระบวนการของ Moonshot Thinking จะเริ่มต้นจากการสร้างเป้าหมายความยั่งยืนแบบก้าวกระโดด กล้าระดมใส่ไอเดียร่วมกัน แม้ว่าไอเดียนั้นจะบ้าบิ่นแค่ไหนก็ตาม แต่ยังคงแนวทางที่ต้องการบรรลุเป้าหมายเอสดีจี จากนั้นคือลงมือทำ และสื่อสารไปสู่สาธารณชน เพื่อเผยแพร่ผลลัพธ์แนวการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนออกไป ไม่ว่า ความสำเร็จจะมากหรือน้อยแต่นั่นหมายถึงเราได้เริ่มก้าวและลงมือทำแล้ว
“Moonshot คือ คำนี้ที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ส่งจรวดไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2512 นั่นหมายถึงการคิดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่เคยมีใครตั้งเป้าหมายแบบนี้มาก่อน โดยนำทรัพยากรต่างๆ ที่ไม่เคยถูกคิดค้นหรือนำมาใช้ก่อนหน้านี้ เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ถึงจุดหมายนั้นๆ แล้วในวันนี้ได้นำคอนเซ็ปต์นี้มาใช้กับความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่การบรรลุเอสดีจีที่ตั้งเป้าหมายไว้ 11 ปีข้างหน้า" ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นกล่าว
บัคลีย์ มองว่า สำหรับเขาแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ เพราะเวลานี้สถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปและก้าวหน้าไปมาก โดยทุกประเทศสามารถนำแนวคิด Moonshot Thinking มาร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง17 ข้อของเอสดีจี ด้วยการผสมผสานหลักการสร้างความยั่งยืนและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้อย่างลงตัว
"หากแต่ตอนนี้ โลกกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนทรัพยากร แล้วขยะที่ถูกทิ้งไปก็ยังอยู่ในโลกเราอยู่ดี นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ต้องหันมาใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกภาคส่วน และเร่งคิดค้นนวัตกรรมมากู้วิกฤติ และใช้ทรัพยากรที่ต่างไปจากเดิม พร้อมทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในเวลาเดียวกัน เหมือนอย่างที่องค์กรชั้นนำระดับโลกหลายแห่งประสบความสำเร็จมาแล้ว” กล่าวย้ำ
ที่ผ่านมา บัคลี่ย์จับมือกับผู้เชี่ยวชาญก่อตั้งมูลนิธิ Futur-io ประเทศเยอรมนี โดยเขาเป็นอยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรระดับโลก ในด้านการดีไซน์โมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่น กูเกิล ไมโครซอฟ ซีเมนส์และ เลโก้
ปัจจุบัน บัคลีย์ ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ความรู้แนวความคิดที่เรียกว่า Moonshot for Sustainable แก่บรรดาผู้นำองค์กรต่างๆ ใช้ในการออกแบบอนาคตของธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเอสดีจี ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งด้านการส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเติบโตและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน
บัคลีย์ ชวนให้ทุกประเทศจิตนาการไปพร้อมๆกันว่า ถ้าวิกฤติของโลกถูกขจัดให้หมดไป ตั้งแต่ความยากจน ผู้หิวโหย ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เข้าถึงคุณภาพการศึกษา มีความเท่าเทียมทางเพศ ในทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ มีน้ำที่สะอาดสำหรับทุกคน และทั่วโลกใช้พลังงานสะอาดเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีการลงทุนไปกับอุตสาหกรรมพลิกโลก ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือ บล็อกเชน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็น มองว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารถือเป็นธุรกิจที่จะต้องเร่งปฏิวัติระบบใหม่ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ที่มีอยู่ทั่วโลกสามารถทำเงินได้ถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซสู่อากาศสูงที่สุดและใช้ทรัพยากรมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ยังขาดความสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
“หากคนในสังคม ผู้ประกอบการ และกลุ่มภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลที่ดี จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมีการบริโภค การผลิตที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบนโลก นี่คือความฝันของการหยุดวิกฤติโลกร้อน และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ภายในปี 2573” บัคลีย์ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.3 พันล้านคน โดย 1 พันล้านคนจะมีอายุมากกว่า 65 ปี และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น 60% แต่นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรด้านพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เท่ากับว่าเราจะต้องมีโลกถึง 3 ใบเพื่อรองรับความต้องการมหาศาลดังกล่าว วิกฤติความยั่งยืนจึงกลายมาเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องหันมาตระหนัก ใส่ใจ และลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับโลกใบนี้