เรื่องของแม่น้ำโขง

เรื่องของแม่น้ำโขงและเรื่องของการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงนั้น พูดกันมานานแล้วว่าน่าจะมีผลกระทบต่าง ๆ นานากับประเทศที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำที่มีชื่อเสียงนี้

แต่ดูเหมือนว่า คนที่อยู่ไกลแม่น้ำโขง ยังไม่เห็นภัยที่มาถึงอย่างชัดเจน คอลัมน์นี้ขอกล่าวถึงเรื่องความเป็นความตายของแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงนั้นถือว่าเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ เพราะไหลผ่านตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ ประเทศเมียนมา ส.ป.ป.ลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม มีเมืองหลวงของสองประเทศคือ นครเวียงจันทน์และนครพนมเปน ได้ใช้แม่น้ำสายนี้มาแต่โบราณกาล และที่รู้กันอยู่ทั่วไปในตอนนี้ คือ ประเทศจีนตอนใต้ ประเทศกัมพูชา และส.ป.ป.ลาว กำลังสร้างเขื่อนหลายเขื่อนด้วยกัน และหลายประเทศสร้างเขื่อนเหล่านี้ด้วยเงินกู้

เขื่อนต่าง ๆ เหล่านี้ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของเขื่อนอาจสร้างความวิตกให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งประเทศที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการให้มีการสร้างเขื่อนด้วย

ความจริงเรื่องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้ว แต่ยังไม่เห็นชัดเจนหรือเป็นรูปธรรม เท่ากับการที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐนำเอาเรื่องนี้ ไปลงพิมพ์ไว้เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ปีนี้เอง

หนังสือพิมพ์ The New York Times ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่น่าเชื่อถือของประเทศสหรัฐ ได้ตีพิมพ์บทความที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเอาไว้อย่างน่าสนใจ มีประเด็นว่า ชาวบ้านในกัมพูชาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “แม่น้ำของเรานั้นก็เหมือนกับพระเจ้า เรามีความรู้สึกเศร้า เมื่อเรารู้ว่าเรากำลังฆ่าพระเจ้าของเราเอง”

เรื่องที่น่าหดหู่ก็คือ การสร้างเขื่อนนับเป็นสิบเขื่อนบนแม่น้ำโขงนั้น กระทบกระเทือนถึงชาวบ้านที่จะต้องถูกอพยพเพราะการสร้างเขื่อน น่าตกใจว่า ในประเทศด้อยพัฒนานั้น การบังคับให้ชาวบ้านย้ายถิ่นฐาน ดูจะเป็นเรื่องง่ายไปเสียหมดเพราะว่า ไม่มีใครที่จะขัดขืนคำสั่งของรัฐได้ และในความหมายของบรรดาประเทศที่เป็นสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนนั้น ถือกันว่า

“ความก้าวหน้า ย่อมมาพร้อมกับความขมขื่น”

แต่คราวนี้ ความขมขื่น ที่ชาวลุ่มแม่น้ำโขงได้รับ ดูจะมากกว่าที่จะยอมรับกันได้

ที่กล่าวกันว่า แม่น้ำโขงกำลังจะตายนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องพูดกันเล่น ๆ หรือเป็นเรื่องของชาวบ้านช่างพูด แต่เป็นเรื่องที่มีการทำการวิจัยจริง โดยสถาบันที่ชื่อว่า สถาบันเพื่อมรดกธรรมชาติ (Natural Heritage Institute) ซึ่งเป็นสถาบันที่คอยสอดส่อง ความเป็นอยู่ของบรรดาแม่น้ำทั่วโลก

รายงานนี้กล่าวว่า ขณะที่บรรดาประเทศด้อยพัฒนาที่กำลังได้รับเงินกู้จากประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง เพื่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงนั้น ต่างดีใจว่าประเทศจะมีการพัฒนาและสร้างสถานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

แต่สถาบันที่กล่าวนี้ กลับบอกว่า การสร้างเขื่อนนั้น เป็นการทำให้แม่โขงมีอายุสั้น ประการแรก เขื่อนทำให้ ตะกอนของแม่น้ำโขงซึ่งจะไหลบ่าไปสู่ผืนนาข้าวของ ทั้งประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาถูกกั้นโดยเขื่อน ทำให้ตะกอนเหล่านั้นไม่สามารถไหลมาท้ายน้ำได้ ซึ่งหมายความว่า แม่น้ำกำลังจะตื้นเขินลงในที่ต่าง ๆ ที่ได้มีการสร้างเขื่อนไว้ ยิ่งไปกว่านั้นในเรื่องของสภาวะทางนิเวศน์ จะถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก เช่น พันธุ์ปลาที่จะต้องว่ายขึ้นไปวางใข่เหนือน้ำ เพื่อไปทำการเผยขยายพันธุ์จะเจอปัญหาเช่นเดียวกัน

จริงอยู่ บรรดาประเทศที่ด้อยพัฒนา อาจจะโต้แย้งว่าการสร้างเขื่อนนั้น เป็นการสร้างพลังงานที่ประเทศต้องใช้ในเวลาต่อไป แต่จากการสำรวจพบว่าทั้งใน ส.ป.ป.ลาวและกัมพูชานั้น มีประชากรอยู่น้อยมากและความจำเป็นในการที่จะต้องมีพลังงานเพิ่มก็น้อยกว่าการสร้างเขื่อนครั้งเดียวหลาย ๆ เขื่อนที่กำลังดำเนินการอยู่

กล่าวกันว่า เขื่อนเพียงเขื่อนเดียวในกัมพูชาจะให้กำเนิดพลังงานเกินไปกว่าที่ประเทศกัมพูชาทั้งประเทศกำลังต้องการอยู่ทุกวันนี้ ถ้าพลังงานส่วนเกินไม่สามารถจำหน่ายจ่ายแจกออกไปนอกประเทศได้ การสร้างเขื่อนเป็นการสร้างหนี้ที่ไม่สามารถจะชดใช้ได้ในอนาคต การที่ สปป.ลาว ตั้งใจจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียนั้น อาจจะยังผลให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้ของประเทศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิจารณ์กันว่าเป็นความหวังที่เลื่อนลอย

การสร้างเขื่อนนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการล้าสมัยในปัจจุบัน เพราะว่าในหลายประเทศที่เจริญแล้ว เช่นในประเทศสหรัฐ เขื่อนพลังน้ำที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของมนุษยชาติเหนือธรรมชาติ กำลังถูกรื้อถอนเพื่อที่จะปล่อยให้แม่น้ำไหลได้สะดวกโดยไม่มีสิ่งขวางกั้นอีกต่อไป อีกทั้งในเรื่องของพลังงานนั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเชื่อกันว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์และแรงลมนั้นจะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนกว่า

อย่างไรก็ตาม ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ มีปัญหาในเรื่องของการกู้เงินจากธนาคารโลก ซึ่งครั้งหนึ่งเคย ให้เงินกู้เพื่อสร้างเขื่อน แต่ในตอนนี้กลับกลายเป็นว่า ประเทศเหล่านี้ต้องไปขอยืมเงินทุนจากประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสังคมนิยม เช่น จีน ที่ยังมองว่าการสร้างเขื่อนมีความจำเป็นสำหรับประเทศด้อยพัฒนา