เผยปม"สิทธิแรงงาน"ต้นตอสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย
เผยปม"สิทธิแรงงาน"สาเหตุสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย ระบุ รัฐบาลไทยดำเนินการตอบโต้แรงงาน และเปิดโอกาสให้เกิดการฉกฉวยผลประโยชน์หรือล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆต่อแรงงาน ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงานที่แพร่กระจายไปทั่วระบบเศรษฐกิจ
ประกาศของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐที่ยกเลิกการให้สิทธิจีเอสพีแก่สินค้านำเข้าจากไทยมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาพร้อมคำกล่าวอ้างว่าไทยล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ดูจะสวนทางกับความเป็นจริงที่ว่าไทยจัดการด้านสิทธิแรงงานดีขึ้น แถมอียูยังปลดใบเหลืองไอยูยูไทย แต่ล่าสุด สหพันธ์แรงงานใหญ่สุดของสหรัฐ ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ตอกย้ำว่าไทยละเมิดสิทธิแรงงานจริงตามที่ยูเอสทีอาร์กล่าวอ้าง ติดตามได้จากรายงาน
สหพันธ์แรงงานอเมริกันและสภาองค์กรอุตสาหกรรม(เอเอฟแอล-ซีไอโอ) ซึ่งเป็นสหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ได้นำเสนอรายงานเมื่อปี 2556 บ่งชี้ว่า รัฐบาลไทยดำเนินการตอบโต้แรงงาน และเปิดโอกาสให้เกิดการฉกฉวยผลประโยชน์หรือล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆต่อแรงงาน ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงานที่แพร่กระจายไปทั่วระบบเศรษฐกิจ
ด้วยข้อมูลนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(ยูเอสทีอาร์) จึงประกาศยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้า(จีเอสพี)มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาทแก่ประเทศไทยเมื่อวันศุกร์(25ต.ค.) ซึ่งคำสั่งนี้จะมีผลบังคับในอีก 6 เดือนข้างหน้าและครอบคลุมสินค้าไทยประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่อยู่ภายใต้โครงการจีเอสพี โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารทะเลที่จะถูกระงับสิทธิ์ยกเว้นภาษีทั้งหมด
เอเอฟแอล-ซีไอโอ ระบุว่า มีรายงานที่จัดทำเป็นเอกสารมากมายที่บ่งชี้ว่า มีการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง แต่การละเมิดสิทธิแรงงานระดับสูงก็เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทย โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังจำกัดความสามารถของแรงงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือร่วมกับสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ ไม่ยอมให้แรงงานมีโอกาสได้เจรจาต่อรองในนามของสหภาพ อีกทั้งยังพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้แรงงานชุมนุมประท้วง จึงไม่มีการคุ้มครอง หรือปกป้องแรงงานอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังพุ่งเป้าไปที่บรรดาแกนนำแรงงานอิสระและบรรดานักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน เช่นกรณีหักค่าปรับจากเงินเดือนและเงินเกษียณอายุของผู้นำแรงงานการรถไฟ 7 คน กรณีบังคับคดีค่าเสียหายฯ จากการที่รณรงค์เพื่อเรียกร้องให้เกิดอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้กับขบวนรถไฟเมื่อปี 2552 ที่เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่หัวหินจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งในเรื่องนี้ องค์กรแรงงานสากล(ไอแอลโอ) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพในกฎระเบียบในระดับสากลด้วยการยกเลิกการหักค่าปรับจากเงินเดือนและเงินเกษียณอายุของผู้นำทั้ง 7 คน
กฏหมายไทยยังเอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานอพยพอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการห้ามแรงงานอพยพตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นในการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการที่แรงงานต่างด้าวถูกบังคับใช้แรงงานกลางทะเลเป็นเวลานาน และบางครั้งนานหลายปี บังคับใช้นอนในที่แคบๆและเลี้ยงดูด้วยอาหารเพียงน้อยนิดในแต่ละวัน และหากมีแรงงานเกิดเจ็บป่วยเกินเยียวยาก็ถูกโยนลงทะเล แต่ที่โชคร้ายไปกว่านั้น การค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่อุตสาหกรรมประมงเท่านั้น แต่พบเห็นไปทั่วระบบเศรษฐกิจของไทย รวมถึง ภาคการเกษตร การก่อสร้าง และอุตสหากรรมในประเทศ
รายงานของสหพันธ์แรงงานใหญ่สุดของสหรัฐระบุว่า การปฏิบัติต่อแรงงานดังที่กล่าวมาทั้งหมดควรยุติลงได้แล้ว และในปี 2560 ไทย เป็นประเทศผู้รับประโยชน์จากสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐรายใหญ่สุดอันดับ2 การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐที่ตัดสิทธิจีเอสพีไทยถือเป็นการส่งสารที่จริงจังว่าประเทศต่างๆไม่ควรเอาเปรียบประเทศคู่ค้าด้วยการเอาเปรียบแรงงานและกดขี่แรงงาน
การดำเนินนโยบายนี้ของสหรัฐเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสร้างแรงจูงใจเพื่อปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชน แรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ควรมีส่วนร่วมกับความมั่งคั่งที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้าง และสหพันธ์ฯหวังว่าการระงับสิทธิจีเอสพีจะทำให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายด้านนี้ รวมทั้งอนุญาตให้แรงงานได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงานของไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐระงับสิทธิจีเอสพีแก่สินค้าของประเทศไทย โดยอ้างถึงเรื่องไม่ปกป้องสิทธิแรงงานตามสากล ว่า การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้หารือเรื่องจีเอสพี ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าเรื่องของแรงงาน เรื่องแรงงานไม่ค่อยมีอะไร และเรื่องที่สหรัฐต้องการให้มีการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทยนั้น เวลานี้ได้ให้คนต่างด้าวด้อยกว่าคนไทย เพราะหากให้คนไทยเท่ากับต่างด้าวก็จะยุ่ง
กระบวนการของประเทศไทยไม่ได้มาอย่างนั้น ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพมากมาย กฎหมายไทยไม่ได้เป็นสากล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ประเทศใครประเทศมัน ถ้าให้ตั้งแรงงานต่างด้าวเป็นสหภาพแรงงาน เราก็เหนื่อย คนต่างด้าวพูดภาษาไทยไม่ได้ แล้วแบบนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร แม้กระทั่งกรณีสหภาพแรงงานที่เป็นคนไทยก็ยังทะเลาะกันเอง และอยู่ดีๆจะมีต่างชาติล้านคนมาเป็นสหภาพกลุ่มใหญ่ ซึ่งเราผลักดันให้ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่ากระทรวงพาณิชย์ของไทยกับสหรัฐจะเจรจาตกลงเรื่องจีเอสพีได้หรือไม่ ถ้าตกลงได้ แต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแล้วมาถามเราว่าทำอะไรได้บ้าง เราจึงจะได้ลงแรงคิดต่อไป
ต่อข้อถามที่ว่า คิดว่าเรื่องแรงงานเป็นข้ออ้างในการใช้ตัดจีเอสพีหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เขามีเงื่อนไขเช่นนี้ 11 ข้อ ซึ่งสหรัฐยังไม่รับเรื่องการให้สิทธิ์แก่แรงงานต่างด้าว เพราะให้สิทธิคนต่างด้าวดีกว่านั้นอยู่แล้ว ตนก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยไปเป็นคนต่างด้าวที่นั่น และ 2 ข้อที่เขาจะให้เรารับ เราก็รับไม่ค่อยได้ เพราะมันมากกว่าสิทธิ์ของคนไทย
“ผมไม่อยากพูดว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เป็นกระบวนการ ความเป็นมาของสังคม และกฎเกณฑ์ประเทศ ต่อไปเป็นอย่างไรไม่รู้ วันนี้กฎหมายเราไม่ใช่กฎหมายสากล และความเจริญของประเทศมีระดับหนึ่ง การทะเลาะไม่ค่อยมี เขาต้องการให้คนงานต่างด้าวด่านายได้ เราก็ไม่เห็นว่าจะมีใครให้คนงานด่านายเลย ต่อให้แก้กฎหมายแรงงาน ก็ยังติดกฎหมายอาญา หากจะแก้กฎหมายอาญาเพื่อให้สิทธิ์แรงงาน ที่เป็นคนของประเทศกลุ่มหนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงเรียนครม. ว่าถ้ามีอะไรช่วยได้นิดๆหน่อยๆ จะช่วย"รมว.แรงงาน กล่าว