ความสุขของคน“หลงตัวเอง”

ความสุขของคน“หลงตัวเอง”

ความสุขของคน“หลงตัวเอง” โดยผลวิจัยบ่งชี้ว่า กลุ่มคนคนที่มีอาการหลงตัวเองเหล่านี้ ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนกับปฏิกิริยาเชิงลบของคนรอบข้าง

“คนหลงตัวเอง” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Narcissists เป็นอาการของคนที่ชอบโอ้อวดตัวเอง และข่มคนอื่นเพราะคิดว่าตนเองเหนือกว่า ซึ่งผู้คนในโลกยุคอิจิทัลเต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นลักษณะนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้พฤติกรรมของกลุ่มคนหลงตัวเองจะไม่ค่อยเป็นที่ปรารถนาของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมมากนัก

ผลศึกษาล่าสุด ของทีมนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์ยูนิเวอร์ซิตีเบลฟาสต์ (คิวยูบี) ของสหราชอาณาจักร กลับพบว่า กลุ่มคนคนที่มีอาการหลงตัวเองเหล่านี้ ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนกับปฏิกิริยาเชิงลบของคนรอบข้างที่อดรู้สึกหมั่นไส้พวกเขาไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามกลับมีความสุขกับชีวิตมากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

รายงานวิเคราะห์ของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ นิยามความหมายของผู้มีอาการหลงตัวเองไว้ว่า มักจะมองตนเองเหนือกว่าผู้อื่นแบบเกินจริง มีความมั่นใจเกินเหตุ มีพฤติกรรมกล้าเสี่ยง มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นน้อยมากถึงน้อยที่สุด แทบไม่มีความละอาย หรือความรู้สึกผิดบาปใด ๆ เมื่อกระทำสิ่งไม่ดี

พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น เป็นหนึ่งในพฤติกรรมด้านมืดทางด้านจิตวิทยา ไม่ต่างกับคนที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมและพวกนิยมความรุนแรงหรือซาดิสม์ที่ชอบเห็นผู้อื่นเจ็บปวดทรมาน แต่น่าสนใจที่ผลศึกษาชิ้นนี้บอกว่า อาการหลงตัวเองของผู้คนในโลกยุคดิจทิทัลมีแนวโน้มว่าจะได้รับการส่งเสริม แทนที่จะถูกกลไกทางสังคมลงโทษ แถมกลุ่มคนที่มีอาการหลงตัวเอง ก็ไม่ได้มีอาการเครียด หรือมีภาวะซึมเศร้าในจิตใจ แม้รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองคือสาเหตุทำให้คนอื่นอารมณ์ขุ่นมัวอยู่บ่อยครั้ง

ที่สำคัญ รายงานชิ้นนี้ระบุว่า คนที่มีพฤติกรรมหลงตัวเองกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในโลกโซเชียลและในหมู่นักการเมือง

ดร.คอสตาส ปาปาจอร์จิอู ผู้นำในการทำวิจัยชิ้นนี้ เล่าว่า ในการศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ 700 คน พบว่าพฤติกรรมหลงตัวเองเป็นประโยชน์ต่อคนที่มีบุคลิกลักษณะนี้อย่างมาก แม้จะส่งผลเสียต่อสังคมรอบข้าง

"คนหลงตัวเองมักจะเหยียบย่ำและกดข่มคนอื่น ๆ แต่สำหรับตัวเองแล้ว อาการหลงตัวเองกลับเป็นเกราะป้องกันทางอารมณ์ที่ช่วยไม่ให้ตัวเขาเองเกิดความรู้สึกแย่กับตัวเอง ความมั่นใจเกินเหตุและความคิดที่ว่าตัวเองสำคัญอย่างสุดขั้ว ทำให้คนหลงตัวเองมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถข้ามผ่านอุปสรรคจากการถูกปฏิเสธ หรือความรู้สึกผิดหวังต่าง ๆ ได้ง่าย บ่งชี้ว่าคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้คนหลงตัวเองมักจะประสบความสำเร็จ ทั้งในหน้าที่การงานและในแวดวงสังคม” ดร.ปาปาจอร์จิอู กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนหลงตัวเองทุกคนจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและในแวดวงสังคม ผลศึกษาวิจัยพบว่า มีเพียงพฤติกรรมหลงตัวเองในบางประเภทเท่านั้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับบุคคลดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น คนหลงตัวเอง ที่มีบุคลิกแบบที่มองว่าตนเองยิ่งใหญ่มาก ชอบหมกมุ่นเรื่องอำนาจและสถานะ จะมีความสามารถจัดการกับความเครียดและสุขภาวะทางใจของตนเองได้ดีกว่าแต่กลุ่มคนหลงตัวเอง ที่มีบุคลิกแบบหวาดระแวง มีแนวโน้มจะตีความพฤติกรรมของผู้อื่นว่าเป็นศัตรูกับตนเองไปเสียหมด ทำให้ไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพจิต

“การหลงตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ดีหรือเลวไปเสียทั้งหมด แต่เป็นพฤติกรรมที่เป็นผลพวงจากวิวัฒนาการ และเป็นการแสดงออกที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ การหลงตัวเองอาจจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม” ผู้นำในการทำวิจัยชิ้นนี้ กล่าวปิดท้าย