เปิดอาณาจักรทิฟฟานีในอุ้งมือ ‘แอลวีเอ็มเอช’
เปิดอาณาจักรทิฟฟานีในอุ้งมือ "แอลวีเอ็มเอช" บริษัทรุ่งเรืองมากในยุคของหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี บุตรชายของชาร์ลส เขาเกิดในปี 2391 เป็นจิตรกรจากนั้นหันมาทำงานแก้วที่นิยมกันมากในฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี
บริษัทเครื่องประดับ “ทิฟฟานีแอนด์โค” ถือเป็นไอคอนของสหรัฐด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน ล่าสุดเพิ่งถูกแอลวีเอ็มเอช จากฝรั่งเศส เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ซื้อไปด้วยวงเงิน 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซีอีโอแบรนด์ดังจากฝรั่งเศสยกย่องว่า ทิฟฟานีคืออัญมณีในตัวเอง และให้คำมั่นว่าแอลวีเอ็มเอชจะมุ่งมั่นทุ่มเทเหมือนที่ทำกับธุรกิจอื่น ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2380 ชาร์ลส ลูอิส ทิฟฟานี ก่อตั้งบริษัทขึ้นที่ถนนบรอดเวย์ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ เพื่อขายเครื่องเขียน ผ้าเช็ดหน้า และเครื่องประดับอื่น ๆ
สิบปีต่อมาทิฟฟานีเปลี่ยนไปขายอัญมณี โดยเฉพาะในปี 2391 บริษัทเข้าซื้อคอลเลคชั่นดังๆ ของยุโรป เช่น เครื่องเพชรที่พระนางมารี อังตัวเนตต์ทรงสวมใส่
ปี 2393 ทิฟฟานีเปิดสาขาที่ถนนริเชลูในกรุงปารีส ตามด้วยสาขาในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2411 และเปิดโรงงานนาฬิกาในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ในไม่กี่ปีหลังจากนั้น
บริษัทรุ่งเรืองมากในยุคของหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี บุตรชายของชาร์ลส เขาเกิดในปี 2391 เป็นจิตรกรจากนั้นหันมาทำงานแก้วที่นิยมกันมากในฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี
งานของหลุยส์ ทิฟฟานี เช่น ตะเกียงแก้ว และกระจกสี เปรียบเสมือนเป็นยุคทองในสหรัฐช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 งานบางชิ้นเคยติดตั้งในทำเนียบขาว แต่ถูกถอดออกไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20
“ทิฟฟานีคือสัญลักษณ์แห่งอเมริกาที่กำลังเป็นฝรั่งเศสนิดหน่อย บริษัทนี้มีศักยภาพอย่างเหลือล้น และมีประวัติศาสตร์อันน่าอัศจรรย์” อาร์โนลต์กล่าวด้วยความปลาบปลื้ม
ความโดดเด่นของทิฟฟานีคู่ขนานไปกับความรุ่งเรืองของนิวยอร์ก ปี 2483 บริษัทเปิดร้านหรูบนฟิฟธ์อเวนิว ถึงขณะนี้ก็ยังเป็นปลายทางของการชอปปิงหรูในนิวยอร์ก โลโกทิฟฟานีดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วสหรัฐและทั่วโลก
บรรดาลูกค้าคนดังของร้านมีทั้งตระกูลเคนเนดี ริชาร์ด นิกสัน เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ และริชาร์ด เบอร์ตัน
ร้านที่นิวยอร์กยังเป็นต้นกำเนิดเพชรทิฟฟานีสีเหลืองอันลือลั่น อัญมณีขนาดมหึมาเม็ดนี้ถูกขุดพบเมื่อปี 2421
ทิฟฟานี นิวยอร์ก คงความอมตะนิรันดร์กาลจากภาพยนตร์ “Breakfast at Tiffany's” ที่มีฉากออเดรย์ เฮปเบิร์น ครวญเพลง Moon River
แค่ร้านบนถนนฟิฟธ์ อเวนิว ติดกับทรัมป์ทาวเวอร์ เพียงแห่งเดียวก็ทำยอดขายให้ทิฟฟานีได้เกือบ 10% ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากร้านอื่นๆ อีกกว่า 300 สาขาทั่วโลก และยอดขายในสหรัฐคิดเป็น 44% ของทั้งหมด ตามด้วยเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น 28% ส่วนที่ญี่ปุ่นยอดขายมีสัดส่วน 15% ยุโรป 11%
ปีที่แล้ว ทิฟฟานีรายงานกำไร 586 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย 4.4 พันล้านดอลลาร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่แอลวีเอ็มเอชทุ่มซื้อทิฟฟานีด้วยวงเงินสูงสุดเท่าที่บริษัทเคยซื้อกิจการมา
อ่านข่าว-“หลุยส์ วิตตอง” ทุ่ม 1.6 หมื่นล้านดอลล์ ซื้อ “ทิฟฟานี แอนด์ โค”