‘ริงกิตอ่อน’ ปัจจัยเขย่ารัฐบาล ‘มหาธีร์’

‘ริงกิตอ่อน’ ปัจจัยเขย่ารัฐบาล ‘มหาธีร์’

สถานการณ์เงินริงกิตอ่อนค่าต่อเนื่องที่ทำให้ค่าครองชีพประชาชนพุ่งและประเทศนำเข้าสินค้าแพงขึ้น ร้อนถึงรัฐบาลของ “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” ที่เตรียมประชุมเพื่อหาวิธีรับมือโดยเร็ว ท่ามกลางกระแสไม่พอใจของชาวมาเลเซียที่สะท้อนจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุด

เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัดของมาเลเซีย กล่าวว่า เงินสกุลริงกิตอ่อนค่าลง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน หลังก่อนหน้านี้ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 3.80 ริงกิตต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดอยู่ที่ 4.20 ริงกิต ทำให้ราคาสินค้าทุกอย่างที่ประชาชนซื้อ แพงขึ้น

"นี่คือหนึ่งในเหตุผล (ที่ค่าครองชีพแพงขึ้น) เราจะหารือปัญหานี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี" นายกฯ วัย 94 ปีของมาเลเซียซึ่งเข้าสู่อำนาจในปี 2561 กล่าว

สัปดาห์ที่แล้ว มหาธีร์ระบุว่า กำลังพิจารณาปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากพรรคร่วมรัฐบาลพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมให้ฝ่ายค้านอย่างขาดลอย ผลจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อหลายปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ และค่าครองชีพสูงขึ้น

157520366371
- มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซีย วัย 94 ปี -

เศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซียและไทย เติบโตชะลอตัวที่สุดในรอบปี ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ปัจจัยจากการส่งออกและธุรกิจเหมืองแร่ที่ตกต่ำอย่างหนัก

  • ต้นเหตุถูกสหรัฐเพ่งเล็ง

ก่อนหน้านี้ เงินริงกิตที่อ่อนค่าอย่างหนัก ทำให้มาเลเซียเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ถูกสหรัฐเพิ่มรายชื่อในกลุ่มที่ต้องจับตาเรื่องมาตรการค่าเงินอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับสิงคโปร์และเวียดนาม

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์บลูมเบิร์ก ระบุว่า สหรัฐจะขึ้นชื่อประเทศคู่ค้าไว้ในรายงานประเทศที่ต้องเฝ้าติดตามเรื่องมาตรการค่าเงินอย่างใกล้ชิด หากเข้าเกณฑ์ 2 ใน 3 อย่างประกอบด้วย การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากเดิมกำหนดไว้ที่ 3% การแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินของตนอยู่เสมอ และการได้เปรียบดุลการค้าอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.04 แสนล้านบาท)

กระทรวงคลังสหรัฐเพิ่มชื่อมาเลเซียไว้ในรายงานดังกล่าว เพราะได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 8.16 แสนล้านบาท) เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.1% ของจีดีพี และขายสกุลเงินต่างชาติสุทธิ 3.1% ของจีดีพีเพื่อพยุงเงินริงกิตไม่ให้อ่อนค่า

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทลงทุนและหลักทรัพย์เอ็นเอชในเกาหลีใต้มองว่า การที่สหรัฐเพิ่มชื่อ 3 ประเทศอาเซียนไว้ในรายชื่อกลุ่มที่ต้องจับตาเรื่องมาตรการค่าเงิน อาจเป็นการเดินหน้ากดดันจีน เพราะทั้ง 3 ประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับจีน

  • อ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปี

เงินริงกิตของมาเลเซียเป็นหนึ่งในค่าเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ่อนค่าที่สุดเทียบกับดอลลาร์

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่กว่า 4% ต่อปี แต่เงินริงกิตในปีนี้กลับแตะระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 20 ปีเข้าไปแล้ว หรือนับตั้งแต่ปี 2541

ส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เงินริงกิตอ่อนค่าคือ การที่มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกัน น้ำมันปิโตรเลียมยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากกรณีราคาน้ำมันที่ร่วงหนัก ส่งผลให้ยอดการส่งออกของมาเลเซียซบเซาลง

  • บีบทุนต่างชาติไหลออก

เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์เผยว่า นักลงทุนต่างชาติลดการถือพันธบัตรรัฐบาลมาเลเซียลงตั้งแต่ปลายปี 2559 และเมื่อเดือน มี.ค. มูลค่าการลงทุนในพันธบัตรมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่บริษัทบาร์เคลย์ส ยังคาดการณ์ในเวลานั้นว่า เงินริงกิตจะอยู่ที่ระดับ 4.12 ริงกิตต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ แต่เตือนว่าริงกิตอาจมีการอ่อนค่าลงเล็กน้อยจนถึงสิ้นปี

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่บรรดานักลงทุนต่างชาติแห่ทิ้งสินทรัพย์ในมาเลเซียกว่า 2,000 ล้านริงกิต หรือกว่า 481 ล้านดอลลาร์ โดยสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของหุ้นมาเลเซียทั้งหมด

“การเทขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องอาจมีไปจนกว่าจะประกาศงบประมาณรัฐบาลกลางในไตรมาส 4” เฟือ ลี พาร์ค หัวหน้านักกลยุทธ์ของบริษัทฟิลิป มูชวล กล่าว “อย่างไรก็ดี การเทขายจะเป็นไปอย่างทีละน้อย”