เปิดมุมมองผ่านโลก ‘นวัตกรรมนอร์ดิก’
'ไทยกับฟินแลนด์' ได้วางเป้าหมายความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมสตาร์ทอัพระหว่างไทยกับฟินแลนด์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นเรื่องที่ทุกคนมีโอกาสเข้าถึง ซึ่งฟินแลนด์เป็นชาติแรกในยุโรปที่นำเอไอมาใช้เป็นกลยุทธ์ยกระดับการเรียนการสอนกับนักเรียนทุกระดับหวังปลุกปั้นสร้างสตาร์ทอัพ ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ และหอการค้าไทย – ฟินแลนด์ จัดสัมมนาเชิงวิชาการด้านนวัตกรรมภายใต้หัวข้อ “Fuse@Bangkok” เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ทางเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศนอร์ดิก
ประกอบด้วยฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค และไอซ์แลนด์ หนึ่งในต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีของไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพ วิธีจัดเก็บและบริหารจัดการฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างความยั่งยืน
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเอ็นไอเอ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมแบบนอร์ดิก ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และนวัตกรรมส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในสังคม
กลุ่มประเทศนอร์ดิก ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอิทธิพลในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้น เช่น ระบบภาษาซีพลัสพลัส หรือภาษาในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกปัจจุบันและเป็นรากฐานสำหรับระบบต่างๆ เกือบทุกอย่างในโลกเทคโนโลยี เช่น เซิร์ฟเวอร์โทรศัพท์มือถือ เราเตอร์ และฐานข้อมูลที่ถูกไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง ระบบลินุกซ์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของฟรีซอฟต์แวร์ แม้แต่กระทั่งเครื่องมือสื่อสารยอดนิยมอย่าง โนเกียก็ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยได้หยิบยกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบนอร์ดิกมาเป็นต้นแบบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพอย่างสมดุล ส่วนที่สองเป็นการเรียนรู้วิธีการเก็บข้อมูล หรือบิ๊กดาต้าที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังเพิ่มบทบาทการพัฒนาประเทศในปีหน้า การมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำสังคม เช่น การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ การดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ตั้งแต่การจัดการเรื่องของเสีย การนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ไทยกับฟินแลนด์ได้วางเป้าหมายความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมสตาร์ทอัพระหว่างไทยกับฟินแลนด์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถทางนวัตกรรมอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งในรายงานการจัดอันดับนวัตกรรมของประเทศจัดทำโดยบลูมเบิร์ก ได้ยกให้ฟินแลนด์อยู่ในลำดับ 3 ของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมโลกประจำปี 2562 และอยู่ในอันดับ6 ของดัชนีนวัตกรรมระดับโลก ซึ่งจัดโดยองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก
"ชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว นวัตกรรมยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ชาวฟินแลนด์มุ่งมั่นพัฒนาด้านนวัตกรรมต่อไป เพื่อความยั่งยืนในอนาคต" เอกอัครราชทูตฟินแลนด์กล่าว
ด้าน อาลฟ์ เรห์น ศาสตราจารย์ชาวฟินแลนด์และนักเขียนชื่อดัง กล่าวว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ฟินแลนด์ใช้เงินลงทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมรวมกว่า 3,000 ล้านยูโร มีการลองถูกลองผิดมามาก เช่นเดียวกับองค์กรและบริษัทหลายแห่งได้ลงทุนกับงานวิจัยนวัตกรรม บ้างพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและสังคม เช่น บริษัทแห่งหนึ่งผลิตถุงเท้าวิเศษที่จะมีสัญญาณการแจ้งเตือนแก่ผู้สวมใส่ว่าถุงเท้ายังคงอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้มีประโยชน์มากพอต่อสังคม เป็นการใช้เงินลงทุนไปแต่ได้ประโยชน์กลับมาเพียงเล็กน้อย
"สิ่งสำคัญของการคิดค้นสร้างสรรค์เทคโนโลยีต้องไม่ใช่นวัตกรรมตื้นเขิน (shallow innovation) แต่จำเป็นต้องมีคุณค่าเพียงพอกับการลงทุนและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมอย่างยั่งยืน" ศาสตราจารย์ชาวฟินแลนด์ย้ำ
เรห์น กล่าวในตอนท้ายว่า หัวใจของการสร้างนวัตกรรมในกลุ่มนอร์ดิกไม่ได้เกิดจากใช้ทักษะด้านองค์ความรู้ ความสามารถเชิงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากมิติทักษะด้านอารมณ์ด้วย เช่น ความเชื่อใจ ความโปร่งใส และความร่วมมือร่วมใจ เพื่อจะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้ความคิด และนำไปสู่การรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้