สตาร์ทอัพ ออน-ดีมานด์โตต่อเนื่อง ระดมทุนสูงสุดสวนทางเศรษฐกิจ
สตาร์ทอัพ ออน-ดีมานด์โตต่อเนื่อง ระดมทุนสูงสุดสวนทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในสหรัฐและยุโรป เนื่องจากความท้าทายด้านกฏระเบียบและความลังเลสงสัยของบรรดานักลงทุน
สตาร์ทอัพในเอเชียหลายแห่ง โดยเฉพาะสตาร์ทอัพให้บริการตามความต้องการของลูกค้าอย่างธุรกิจให้บริการส่งอาหาร ธุรกิจรถรับจ้างหรือธุรกิจรับส่งของกำลังทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำรองที่ช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องแก่เศรษฐกิจของภูมิภาค แม้ว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในสหรัฐและยุโรป เนื่องจากความท้าทายด้านกฏระเบียบและความลังเลสงสัยของบรรดานักลงทุน
รายงานของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ในการระดมทุนของเหล่าสตาร์ทอัพออนดีมานด์ ที่ใหญ่ที่สุด5แห่งในปีที่แล้ว มีบริษัทสตาร์ทอัพเอเชีย4แห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้พึ่งพาแรงงานที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือพนักงานพาร์ทไทม์ คอยทำหน้าที่ให้บริการด้านต่างๆ ตั้งแต่ขับรถรับส่งผู้โดยสารไปจนถึงส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้า แม้ว่าการระดมทุนดังกล่าวจะถูกมองจากบรรดานักวิเคราะห์บางคนว่าปรับตัวลดลงในระดับต่ำที่สุดก็ตาม
สตาร์ทอัพที่โดดเด่นและนำโด่งในเรื่องนี้คือ แกร๊บ แอพพลิเคชันบริการรถรับจ้าง มีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อเดือนมี.ค.ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปของญี่ปุ่น ประกาศลงทุนในแกร๊บมูลค่า 1,460 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการอัดฉีดเงินของซอฟต์แบงก์ครั้งนี้ ทำให้การระดมเงินทุนซีรีส์ H ของแกร๊บมีมูลค่ากว่า 4,500 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุนของโกเจ็ก คู่แข่งหลักของแกร๊บ อีก1,000 ล้านดอลลาร์ ที่นำโดยกูเกิ้ล และเทนเซนต์ โฮลดิงส์ และเจดีดอทคอมของจีน และการระดมทุนของสวิกกี้ แพลทฟอร์มให้บริการอาหารในอินเดียอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่นำโดยแนสเปอร์ส กลุ่มให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตในแอฟริกาใต้
“ช่วงที่อูเบอร์และลิฟต์นำหุ้นออกขายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ)ในปีนี้ บรรดานักลงทุนก็หันมาให้ความสนใจบริษัทสตาร์ทอัพลักษณะเดียวกันในเอเชียมากขึ้น”รายงานของโกลด์แมน แซคส์ ระบุ
การทำไอพีโอของทั้งอูเบอร์และลิฟต์ ถือเป็นจุดจบของการเติบโตแบบก้าวกระโดดของทั้ง2บริษัท ทั้งยังเป็นการเปิดฉากสู่ยุคของการถูกตรวจสอบจากสาธารณชนเพื่อประเมินว่าทั้ง2บริษัทมีศักยภาพในการทำกำไรหรือไม่ ซึ่งความลังเลสงสัยของเหล่านักลงทุนในตลาด สะท้อนออกมาในรูปของราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทที่ปรับตัวร่วงลงต่ำกว่าระดับของราคาไอพีโอ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจของบรรดานักลงทุน และเมื่อมารวมกับการชุมนุมประท้วงของบรรดาคนงาน และความท้าทายจากกฏระเบียบ ยิ่งฉุดให้การดำเนินธุรกิจของทั้ง2บริษัทย่ำแย่ลง
เมื่อเดือนก.ย. กาวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ลงนามบังคับใช้กฏหมายที่บีบบังคับให้บริษัทต่างๆปฏิบัติต่อพนักงานในระบบเศรษฐกิจกิ๊ก อีโคโนมี เป็นเหมือนพนักงานประจำของบริษัทที่จะได้รับสวัสดิการต่างๆเต็มที่ โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปี2563 ซึ่งบาร์เคลย์ ประเมินว่า การบังคับใช้กฏหมายดังกล่าว จะทำให้อูเบอร์มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 500 ล้านดอลลาร์ ส่วนลิฟต์จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 290 ล้านดอลลาร์
เมื่อเดือนที่แล้ว อูเบอร์ เพิ่งจะเสียใบอนุญาติประกอบกิจการในกรุงลอนดอนอีกครั้ง ซึ่งตลาดลอนดอนถือเป็นตลาดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอูเบอร์
แต่ในเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เศรษฐกิจออน-ดีมานด์ มีกฏระเบียบที่เคร่งครัดน้อยกว่าในสหรัฐและยุโรป และธุรกิจให้บริการรถรับจ้างก็กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะผลพวงจากอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประชากรมีสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น
ด้วยจุดแข็งเหล่านี้เอง ทั้งแกร๊บและโกเจ็ก จึงตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ให้บริการแพลทฟอร์มเดียวสนองความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมด ตั้งแต่ ซื้อสินค้าร้านขายของชำ ให้บริการรับส่ง และให้บริการเงินกู้ ดึงดูดให้บรรดานักลงทุนทุ่มเม็ดเงินเข้ามาในกองทุนต่างๆ และการเติบโตของธุรกิจนี้ในอนาคตก็สดใสแบบไร้ขีดจำกัด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า สตาร์ทอัพออน-ดีมานด์พวกนี้อาจถูกประท้วงจากแรงงานที่ต้องการเงินและสวัสดิการเทียบเท่าพนักงานบริษัททั่วไป เหมือนที่สตาร์ทอัพ ออน-ดีมานด์ในชาติตะวันตกเจออยู่ในขณะนี้