‘โกลาหล’ วันงดแจกถุง (พลาสติก)

‘โกลาหล’ วันงดแจกถุง (พลาสติก)

ปั่นป่วนทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์ เมื่อห้างสรรพสินค้าเลิกแจกถุงพลาสติกเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ผู้บริโภคชาวไทยต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก หลังจากเคยชินกับการใช้ถุงพลาสติกมานานหลายสิบปี

หลายคนเข้ามาระบายความไม่พอใจบนโซเชียลมีเดีย บ้างก็แชร์ภาพลูกค้าบางคนถือถังพลาสติก บ้างก็ถือถุงปุ๋ยมาชอปปิงในร้านสะดวกซื้อ แต่จะว่าไปแล้วความโกลาหลแบบนี้เคยเกิดขึ้นที่ต่างแดนมาแล้ว

กรณีดังน่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย รัฐบาลออกคำสั่งห้ามร้านค้าและห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในประเทศเลิกใช้ถุงพลาสติก ความหนา 35 ไมครอน ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป ห้างใดที่ฝ่าฝืนจะถูกปรับ 6,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 1.44 แสนบาทห้างวูลเวิร์ธส์และโคลส์ สองห้างสรรพสินค้าใหญ่ทยอยขานรับนโยบาย ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจและเสียงโวยวายจากลูกค้าในช่วงแรกๆ แต่เคราะห์ร้ายมาตกที่แคชเชียร์วูลเวิร์ธส์รายหนึ่งที่ถูกลูกค้าบีบคอเพราะไม่แจกถุงพลาสติก 

ที่มาเลเซีย รองนายกรัฐมนตรีวัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ประกาศโรดแมปเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ระหว่างปี 2561-2573 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.62 โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปจะขยายการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก 20 เซนต์ครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท จากปัจจุบันที่เก็บเฉพาะธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น 

อาหมัด อิสมาอิล ประธานเนเจอร์ โซไซตี้แห่งมาเลเซีย เผยว่า ตอนที่รัฐบาลเสนอแนวคิดนี้ครั้งแรก ธุรกิจและพ่อค้าแม่ขายต่างบ่นอุบว่าเพิ่มต้นทุนให้พวกตน 

“ถ้าร้านค้าเก็บ 20 เซนต์ ลูกค้าบางคนอาจบ่นว่าแพงเกินไป แต่ถ้าเก็บถูกเกินไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนได้ เราต้องให้การศึกษาเชิงรุกแก่ประชาชน” 

แต่ในมุมมองของชาริฟฟา ซาบรีนา ไซอิด อาคิล ประธานองค์การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติมาเลเซียมองว่า แค่นี้ยังน้อยไป ถ้ารัฐบาลต้องการลดการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งจริงๆ ก็ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่มาปล่อยให้ภาคธุรกิจเก็บเงินค่าถุง 20 เซนต์แบบนี้ และในเมื่อเก็บแล้วก็ควรบอกกล่าวให้ประชาชนทราบด้วยว่า เงินที่เก็บเอาไปทำอะไร

“ภาคธุรกิจยินดีเชียวล่ะที่ได้ขายถุงพลาสติก เพราะได้เงิน แถมลูกค้าก็ไม่อินังขังขอบกับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการลดใช้ถุงพลาสติกแล้วล่ะก็ ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้า แบนไปเลย”

ที่กรุงอิสลามาบัดของปากีสถาน ก็มีโครงการนำร่องงดแจกถุงพลาสติกเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2562 ที่เป็นวันเอกราช รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันเอกราชจากพลาสติกด้วย งานนี้เรียกทั้งเสียงชมเชยและเสียงบ่นว่าเร่งรีบเกินไปหรือไม่ รัฐบาลน่าจะทำการบ้านก่อนจะออกระเบียบมาบังคับใช้

นักช้อปและเจ้าของร้านค้าหลายคนโอดครวญกับสำนักข่าวกัลฟ์นิวส์ว่า การห้ามร้านค้าใช้ถุงพลาสติกทุกชนิดไม่ตอบโจทย์การลดใช้พลาสติกเลย ลูกค้าพากันกังวลว่าจะเอาอะไรมาใส่ของ เพราะพ่อค้าไม่ได้เตรียมทางเลือกไว้ให้ ไม่มีแม้แต่ถุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกรณีที่ลูกค้าลืมนำถุงผ้ามาจากบ้าน

อย่างไรก็ตาม ในตลาดบางแห่งโดยเฉพาะย่านชานเมืองยังมีการใช้ถุงพลาสติกกันอยู่

“เรารู้ว่าทางการห้ามใช้ถุงพลาสติก แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ลูกค้าเอาแต่ร้องขอถุง เราก็อยากจะเอาใจรัฐบาล แต่ก็ขัดใจลูกค้าเก่าไม่ได้” บาชีร์ เจ้าของร้านค้าในย่านแทมบรี ชานกรุงอิสลามาบัดเล่าถึงบรรยากาศกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดาเรื่องราวก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เดือน ก.ย. นายกรัฐมนตรีไบรอัน พัลลิสเตอร์ แห่งรัฐแมนิโทบา ประกาศว่า รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมก้าวหน้าที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จะเริ่มหารือกับภาคเอกชนหาหนทางกำจัดถุงพลาสติกเพื่อลดขยะ

“บ้าไปแล้ว โชคดีนะ” มันเธอร์ เซอิด เจ้าของและผู้จัดการร้านชำท้องถิ่น “ฟู้ดแฟร์” สบถ เขากล่าวว่า ลูกค้าราว 75% ใช้ถุงพลาสติกที่เขาจัดให้ฟรี ๆ เล่นมาเปลี่ยนแปลงกันแบบนี้จะมีกี่คนที่รับได้

“ผมไม่คิดว่าเราจะหาทางออกได้ เพราะเราเคยเลิกใช้ถุงกระดาษหันมาใช้พลาสติกเพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ ตอนนี้เราพยายามกำจัดพลาสติก และถ้าเราเริ่มใช้ถุงที่ใช้ซ้ำได้ก็ต้องผลิตจากอะไรสักอย่าง แล้วสักวันเราอาจต้องหาทางออกให้มันเหมือนกัน ผมไม่คิดว่าเราจะหาทางออกให้กับถุงของชำได้เลย”

157806472585

นั่นคือเสียงครวญจากผู้บริโภคและร้านค้า แน่นอนว่าผู้ผลิตถุงพลาสติกก็มีมุมมองของตนเองเหมือนกัน แมตต์ ซีโฮล์ม กรรมการบริหาร  American Progressive Bag Alliance (เอพีบีเอ) อุตสาหกรรมผลิตและรีไซเคิลถุงพลาสติกของสหรัฐ เผยกับเว็บไซต์พลาสติกทูเดย์เมื่อเดือน ก.ย. กังวลว่า ปี 2563 จะมีการห้ามใช้ถุงพลาติกมากขึ้น ซึี่งอาจส่งผลที่ไม่ตั้งใจเกิดขึ้นตามมา เอพีบีเอพยายามหยุดคำสั่งห้ามและนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่อสภาคองเกรส 

“เจอใครผมก็พยายามพูดเรื่องประโยชน์ของถุงพลาสติก ที่ตกเป็นจำเลยหมายเลข 1 ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการกำจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง”

ซีโฮล์มอธิบายว่า การเรียกถุงพลาสติกแบบนี้ว่าใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นการเข้าใจผิด คนที่ไม่เอาพลาสติกป้ายสีถุงชอปปิงว่าบอบบาง ใช้ได้แค่ครั้งเดียวก็ทิ้ง “แต่จริง ๆ แล้ว มันมีประโยชน์มาก ทั้งเบาและทนทาน แน่นอนว่า การมีน้ำหนักเบาทำให้ลมพัดไปไหนก็ได้ ถ้าผู้คนไม่นำไปรีไซเคิล นอกจากนี้ถุงพลาสติกยังใช้วัตถุดิบปริมาณน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่า ใช้พลังงานในการขนส่งน้อยกว่าวัตถุดิบทางเลือกอื่น ๆ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถุงพลาสติกก็มีประโยชน์และเราก็ใช้กันจนเคยชินเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมยากจะรับได้ แต่ทำไมปฏิกริยาต่อการห้ามแจกถุงพลาสติกถึงได้รุนแรงขนาดนี้ เว็บไซต์เดอะคอนเซอร์เวชัน รายงานว่า ปฏิกิริยาโต้กลับชนิดที่ลูกค้าบีบคอแคชเชียร์เพราะไม่แจกถุงพลาสติกดังที่เกิดในออสเตรเลีย เป็นผลจากซูเปอร์มาร์เก็ตละเมิด “สัญญาใจ” ที่มีกับลูกค้า

สัญญาใจแตกต่างกับสัญญาตามกฎหมายที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหรือความคาดหวังชุดหนึ่งที่ไม่ได้เขียนเป็นตัวหนังสือระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นนายจ้างกับลูกจ้างหรือลูกค้ากับร้านค้าปลีกก็ได้ แต่เข้าใจกันโดยปริยาย แม้มองไม่เห็น ไม่บอกไม่กล่าว ไม่เป็นทางการ แต่ก็สันนิษฐานกันเองได้ ถ้าจะพูดกันก็แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

ในกรณีนี้สัญญาใจระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตกับนักช็อปก็คือ “ฉันจะไปซื้อของที่คุณนะ แล้วคุณก็จัดของให้ฉันใส่ถุงพลาสติกไม่คิดเงินค่าถุง”

นี่เป็นธุรกรรมที่รู้กันเองโดยทั้งสองฝ่าย นักช้อปจ่ายเงินซื้อของ ซูเปอร์มาร์เก็ตจ่ายเงินซื้อถุง แต่เมื่อห้ามแจกถุงสัญญานี้ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นว่า “ฉันจะซื้อของกับคุณแล้วไม่เอาถุงพลาสติก คุณเองก็ต้องเลิกแจกถุงพลาสติกในที่อื่น ๆ ด้วย แล้วจะดีกับสิ่งแวดล้อม”

ความขุ่นเคืองเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าต้องจ่ายค่าถุงขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นฝ่ายได้เงิน ทั้ง ๆ ที่ไม่แจกถุงแต่หีบห่อสินค้ายังคงเป็นพลาสติก ข้อวิจารณ์นี้เห็นได้ชัดในโซเชียลมีเดีย และเมื่อละเมิดสัญญาใจกันก็อาจทำให้เกิดการเอาคืนของลูกค้า เริ่มจากตอบโต้เบา ๆ ด้วยการบ่นบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการบ่อนทำลาย เช่น แอบเลาะกระเบื้องปูพื้น ขโมยตะกร้าใส่ของ แต่ปฏิกิริยาเหล่านี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ยังไม่เห็นในเมืองไทย