วิกฤติ 'เม็กซิท' กับอนาคต 'ราชวงศ์อังกฤษ'

วิกฤติ 'เม็กซิท' กับอนาคต 'ราชวงศ์อังกฤษ'

วิกฤติเม็กซิท กับอนาคตราชวงศ์อังกฤษ ที่รุนแรงพอๆ กับเบร็กซิท อย่างไรก็ตาม อนาคตของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนพระชายา ชัดเจนมากขึ้นหลังสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เผยแพร่แถลงการณ์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

สะเทือนโลกคู่ขนานมากับวิกฤติ “สหรัฐ-อิหร่าน” คือถ้อยแถลงจากเจ้าชายแฮร์รีแห่งอังกฤษ และเมแกน พระชายา หรือ “ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกส์” ที่ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ปรารถนาจะลดการปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงลงแล้วใช้เวลาในอเมริกาเหนือมากขึ้น ต้องการให้ปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านเพื่อกำหนดบทบาทของทั้งคู่เสียใหม่ รวมทั้งเปิดองค์กรการกุศลใหม่และหาช่องทางสร้างรายได้ของตนเอง

สื่ออังกฤษเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เม็กซิท” ที่รุนแรงพอๆ กับ “เบร็กซิท” หรือเมื่ออังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม อนาคตของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนพระชายา ชัดเจนมากขึ้นหลังสำนักพระราชวังบักกิงแฮมเผยแพร่แถลงการณ์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) ผลจากการประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูง ทั้งพระองค์เอง เจ้าชายแฮร์รี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าชายวิลเลียม พระบิดาและพระเชษฐาของเจ้าชายแฮร์รี ที่พระตำหนักซานดริงแฮม ในมณฑลนอร์ฟอล์ก ทางตะวันออกของเกาะอังกฤษ ส่วนเมแกนคาดว่าร่วมประชุมทางโทรศัพท์

157904915157

แถลงการณ์ระบุ

"ข้าพเจ้าและครอบครัวสนับสนุนความปรารถนาของ “แฮร์รีและเมแกน” ที่ต้องการดำเนินชีวิตแบบใหม่ในฐานะครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้น แม้เราอยากให้พวกเขายังคงเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ทำงานเต็มเวลาต่อไป เราก็เคารพและเข้าใจในความปรารถนาของพวกเขาที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระมากขึ้นในฐานะครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งที่มีคุณค่าของครอบครัวข้าพเจ้าไปพร้อมกัน"

ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเรื่องอนาคตของคนทั้งคู่แถลงการณ์ระบุว่าจะมีขึ้นในเร็ววันนี้

แถลงการณ์ฉบับนี้ผิดปกติไปมากทั้งในแง่น้ำเสียงที่ไม่เป็นทางการ และมีความเป็นส่วนตัวพระองค์ใช้คำว่า “แฮร์รีและเมแกน” แทนคำว่า “ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกส์”

ว่ากันว่า เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาจะไปใช้ชีวิตที่แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ด้านรัฐบาลแคนาดาแถลงว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยหากทั้งสองมาอยู่ที่แคนาดา

นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด เผยกับสถานีโทรทัศน์โกลบอลของแคนาดาเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า จำต้องหารือกันในเรื่องนี้ด้วย ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ

ทรูโดกล่าวด้วยว่า ชาวแคนาดาสนับสนุนอย่างยิ่งหากเจ้าชายแฮร์รีและพระชายามาใช้ชีวิตที่นี่ แต่ยังมีเรื่องให้ต้องหารือกันอีกมาก

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน บิล มอร์โน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแคนาดา ให้สัมภาษณ์กรณีที่สื่ออังกฤษรายงานว่า ทรูโดรับรองกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า แคนาดาจะดูแลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนเอง

“ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ การแสดงบทบาทในฐานะสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษเรามักพิจารณาอย่างละเอียด”

สื่ออังกฤษรายงานว่า แคนาดาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ปีละ 650,000 ดอลลาร์ ส่วนสื่อแคนาดาประเมินว่า การดูแลเจ้าชายแฮร์รี พระชายา และอาร์ชี พระโอรส ค่าใช้จ่ายปีละราว 1.3 ล้านดอลลาร์ และโดยปกติเมื่อราชวงศ์อังกฤษเสด็จเยือนแคนาดา งบประมาณรักษาความปลอดภัยมาจากเงินภาษีของชาวแคนาดาอยู่แล้ว

157904913853

ประเด็นสถานะพลเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตาม สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแคนาดาเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กฎหมายพลเมืองแคนาดาไม่ได้มีบทบัญญัติให้สถานะพลเมืองแก่เชื้อพระวงศ์โดยพิจารณาจากสิทธิตามสถานะสมาชิกสถาบันกษัตริย์ การจะเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในแคนาดาตามกฎหมาย เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาจำเป็นต้องยื่นเรื่องตามขั้นตอนการเข้าเมืองปกติ

ที่ผ่านมาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงพยายามปรับขนาดราชวงศ์ให้กระชับมานานแล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนจะเหมาะกับตัวแบบนี้หรือไม่ โดยเฉพาะหากทั้งคู่จำเป็นต้องหาเงินด้วยการเป็นดาราฮอลลีวูด ในความพยายามแก้วิกฤติครั้งนี้สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงอำนาจสูงสุดตระหนักดีว่า ผลการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะกำหนดอนาคตของสถาบันกษัตริย์อังกฤษด้วย

หากเทียบกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงรับใช้ประเทศอย่างซื่อสัตย์นับตั้งแต่ทรงครองราชย์ในปี 2495 ทรงเป็นที่เคารพรักของชาวอังกฤษส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้นิยมสาธารณรัฐจำนวนมาก แต่ราชวงศ์ก็ถูกกล่าวหาว่าห่างเหินเข้าไม่ถึงประชาชนด้วยเช่นกัน