ปั้นเมืองเอก 'เฮย์หลงเจียง' สู่ 'สมาร์ทซิตี้'
"ฮาร์บิน" ชูความเป็น "สมาร์ทซิตี้" ใช้เทคโนโลยีเอไอ ดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ยกระดับความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศจีน
ฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮย์หลงเจียง เป็นหนึ่งใน 196 เมืองทั่วประเทศที่รัฐบาลจีนประกาศนำร่องพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ มุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน และเชื่อมโยงเครือข่ายดิจิทัลครอบคลุมทั่วพื้นที่
คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2568 ประชาชนจีนราว 1,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบจากความแออัดทั้งจำนวนประชากร ตึกรามบ้านช่อง และการจราจรที่คับคั่ง ส่งผลให้เมืองขยายตัวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ
เมื่อ 100 ปีก่อนฮาร์บินเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่สำคัญตรงที่เป็นเมืองติดต่อค้าขายกับรัสเซีย จนถูกยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นหัวเมืองทางเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนกับรัสเซีย
ปัจจุบัน เมืองฮาร์บินเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งได้เริ่มแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะตั้งแต่ปี 2556 โดยการออกแบบและนำเทคโนโลยีมาเชื่อมกับระบบการบริหารและจัดการเมืองให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด จนเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ต.ค. 2561 และเริ่มทดสอบระบบใช้งานเป็นระยะๆ นำไปสู่การเดินเครื่องระบบสมาร์ทไลฟ์แบบครบวงจร
"เมืองฮาร์บินได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล" มาใช้ในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การติดตั้งกล้องวงจรปิดแบะอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะครอบคลุมทุกตารางเมตร การปูพรมเทคโนโลยีเครือข่ายสัญญาณไร้สาย 5 จีที่นำไปสู่การติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(ไอโอที)ทั่วทั้งเมือง การติดตั้งเสาไฟถนนและโคมไฟสาธารณะอัจฉริยะ เชื่อมต่อทั้งระบบไฟฟ้าแบบปกติและระบบพลังงานที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาแก้ไขปัญหาการจราจร การพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ และร่วมสร้างบิสสิเนสโมเดลให้กับภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เมืองฮาร์บินก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
หยง อี้เจิน เจ้าหน้าที่ของศูนย์นวัตกรรมเมืองฮาร์บิน กล่าวว่า ล่าสุด เมืองฮาร์บินเริ่มนำเทคโนโลยีสแกนใบหน้ามาใช้เช่นเดียวกับกรุงปักกิ่ง โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อยืนยันตัวบุคคลในสถานที่สาธารณะสำคัญๆทั่วเมือง เมื่อเครื่องสแกนจับภาพไปที่ใบหน้าของบุคคลนั้นๆ กรณีที่เป็นคนจีน จะแสดงข้อมูลส่วนบุคคลให้เห็นทั้งหมด อาทิ ชื่อนามสกุล ส่วนสูง ภูมิลำเนา แต่กรณีเป็นชาวต่างชาติก็จะไม่แสดงข้อมูลใดๆ
“ในทุกตารางเมตรของเมืองฮาร์บินจะครอบคลุมไปด้วยระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ เช่น ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดคู่กับอุปกรณ์สแกนใบหน้าในบริเวณถนนซีเหมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการสำคัญๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติขึ้น ระบบจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมส่วนกลางทันที ทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์ และติดตามผู้กระทำผิดทันท่วงที ” อี้เจินกล่าว
รัฐบาลเมืองฮาร์บิน ยังเร่งพัฒนาระบบ "วางรากฐานชุมชนอัจฉริยะ" และนำบิ๊กดาต้ามาผสานกับเทคโนโลยีกับการวางผังเมือง เพื่อพัฒนาระบบที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยประสิทธิภาพการบริการที่สูงสุด ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การยกระดับการให้บริการของหน่วยงานท้องถิ่น สามารถยื่นเอกสารผ่านทางออนไลน์ เชื่อมต่อข้อมูลและใช้ประโยชน์จากระบบที่บูรณาการ
2.การพัฒนาศึกษาที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับใช้กับการเรียนการสอน 3.การแพทย์และสาธารณสุข นำเอไอ เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต 4.การจราจรอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบเส้นทางและจัดเก็บข้อมูลจราจร และ5.ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระ
นอกจากนี้ การชำระเงินภายในเมืองฮาร์บินส่วนใหญ่ใช้ระบบไร้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และระบบขนส่งสาธารณะสามารถจ่ายเงินออนไลน์ผ่านมือถือ ขณะที่นักท่องเที่ยวและคนต่างชาติยังสามารถใช้จ่ายแบบเดิมได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ทางตอนใต้ของเมืองฮาร์บินยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้คอนเซปต์ "พื้นที่เศรษฐกิจสีเขียว" ดูแลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมด เพื่อควบคุมสายส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างระบบความปลอดภัยภายในโรงงาน และใช้เทคโนโลยีกำจัดของเสียจากโรงงาน เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ความเป็นสมาร์ทซิตี้ทั้งหมดที่กล่าวมา เพื่อตอบโจทย์ที่่ว่า เมืองฮาร์บิน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการผลักดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลก และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ดังนั้นความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ