วัดใจ ‘จีน’ มิตรแท้ ‘เมียนมา’ ?
ผ่านพ้นไปแบบไม่หวือหวา สำหรับการเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีของสี จิ้นผิง ระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค. งานนี้ประธานาธิบดีสีสนับสนุนอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาเต็มที่
มีการลงนามข้อตกลงการค้าและโครงสร้างพื้นฐานกัน 33 ฉบับ ทั้งยังพบกับนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารเมียนมาที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้กำกับดูแลการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
การเยือนกรุงเนปิดอว์ของประธานาธิบดีสีครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนของประมุขของรัฐจีนครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลตะวันตกตีตัวออกห่างเมียนมาเนื่องจากวิกฤติโรฮิงญา เดือนก่อนรัฐบาลวอชิงตันคว่ำบาตรทหาร 4 นาย รวมทั้งนายพลมิน อ่อง หล่าย
ผลพวงจากการที่ทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2560 คณะเจ้าหน้าที่สอบสวนของสหประชาชาติเรียกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ทำให้ประชาชนราว 740,000 จากรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศต้องหนีเข้าไปในบังกลาเทศ แต่จีนสนับสนุนเมียนมามาตลอดในช่วงวิกฤติ ถึงตอนนี้ก็ยิ่งเพิ่มแรงสนับสนุน เพื่อให้ได้เมียนมา ชาติที่มีทำเลยุทธศาสตร์เข้ามาเป็นพันธมิตรหลักในภูมิภาค
เมื่อวันเสาร์ (18 ม.ค.) สี จิ้นผิงและอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ( เอ็มโอยู ) 33 ฉบับ ที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ เดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (ซีเอ็มอีซี) ตามยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การค้า และพลังงาน มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อเชื่อมโยงดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ไม่มีทางออกทะเลเข้ากับมหาสมุทรอินเดีย
ระเบียงเศรษฐกิจประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองจ้าวผิ่ว ชายฝั่งตะวันตกของเมียนมา และเส้นทางรถไฟเชื่อมจากมณฑลยูนนานของจีน ท่าเรือจ้าวผิ่วนี้ถูกมองว่าลดขนาดลงไปมากจากแผนเดิมมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังเป็นการลงทุนหลักของจีน นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเมืองใหม่ที่นครย่างกุ้ง เมืองใหญ่สุดของเมียนมาด้วย
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้เมียนมายังระแวดระวังการลงทุนของจีน หลังจากคนในประเทศคัดค้านกันหนาหูว่า โครงการของจีนทำให้ชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องระงับโครงการเขื่อนมิตโสนที่จีนหนุนหลังเมืื่อปี 2554 จนถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ตึีงเครียดระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน
หากมองความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างเมียนมากับตะวันตกและจีน การเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.2558 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี คว้าชัยชนะมาอย่างถล่มทลายได้ตั้งรัฐบาลพลเรือนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลตะวันตกได้ปรับท่าทีกับเมียนมายกเลิกการคว่ำบาตร เปิดทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ประธานาธิบดีบารัก โอบามาเคยมาเยือนเมียนมา 2 ครั้งระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ และเคยต้อนรับซูจีที่ทำเนียบขาวในปี 2559 หลังจากผ่อนคลายคว่ำบาตรได้ไม่นาน
แต่เมื่อกองทัพปฏิบัติการอย่างโหดร้ายในปี 2560 ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาบอกเล่าสิ่งที่พวกตนประสบ ทั้งการสังหารหมู่ ข่มขืน เผาทำลายหมู่บ้าน โลกก็พากันประณาม สหรัฐเรียกร้องให้เมียนมาหาตัวคนผิดมารับผิดชอบ ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับสหรัฐตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายเมียนมาโต้ว่าปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ทหารไม่ได้จงใจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
เดวิด แมทิสัน นักวิเคราะห์อิสระในย่างกุ้งเผยกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า เป็นโอกาสของรัฐบาลปักกิ่งที่จะรื้อฟื้นโครงการระเบียงเศรษฐกิจแลกกับการคุ้มครองทางการทูตให้เมียนมา
“ในความเป็นจริง ตะวันตกชนะ เมียนมาแพ้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่วิกฤติโรฮิงญา” นักวิเคราะห์กล่าว
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกหลายรายและตัวแทนธุรกิจเผยว่า นโยบายไม่แน่นอนและข้อกำหนดการสอบทานทางธุรกิจอันซับซ้อน ยังทำให้การทำธุรกิจในประเทศนี้ยากด้วย
“บรรยากาศการลงทุนของเมียนมาไม่ได้ดึงดูดนักลงทุนตะวันตกอย่างแท้จริง หลังจากตะวันตกเริ่มปรับท่าทีประชาชนก็มีความหวังว่าจะมีคนมาลงทุน แต่ก็ไม่มีเป็นรูปธรรม” ขิ่น ขิ่น จ่อ ยี หัวหน้าแผนกจีน สถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และนโยบายในเมียนมากล่าว
ส่วนปักกิ่งนั้นใช้วิธีการหลายชั้นจีบเมียนมา ตั้งแต่รัฐช่วยพาผู้นำภาคธุรกิจมาเยือนมากขึ้น นักการเมืองและภาคประชาสังคมเร่งปรับการรับรู้ว่าด้วยตัวแบบเศรษฐกิจและการเมืองจีน ขิ่น ยีกล่าวว่า แต่ถึงอย่างนั้นเมกะโปรเจคของจีนก็ยังเจอการต่อต้าน โดยเฉพาะเมื่อตัดผ่านพื้นที่ความขัดแย้งที่กองทัพสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น
อย่างไรเสีย จีนก็เป็นพันธมิตรที่เมียนมาเสียไปไม่ได้ เพราะมีอำนาจคุ้มครองผ่านการวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)
เดิมพันยิ่งสูงขึ้นเพราะสัปดาห์หน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของยูเอ็นในกรุงเฮกจะพิพากษาว่าออกมาตรการเร่งด่วนกับเมียนมาตามข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่
แต่ความเคลือบแคลงต่อจีนที่มีอยู่ในขณะนี้นอกจากอิทธิพลที่จีนจะครอบงำเมียนมาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จีนได้แล้ว ความสัมพันธ์กับกลุ่มกบฏที่สู้รบตามพื้นที่ชายแดนก็ชวนสงสัย
ทูไว หัวหน้าพรรคประชาธิปไตย หนึ่งในพรรคการเมือง 17 พรรคที่มาร่วมการเยือนของสี จิ้นผิงในกรุงเนปิดอว์มองว่า จีนได้ประโยชน์
ส่วนขิ่น ซอว์ วิน นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ข้อตกลง 33 ฉบับที่เซ็นกันเมื่อวันเสาร์ไม่มีความโปร่งใส จะทำให้ผู้คนไม่ไว้ใจมากขึ้นจนนำไปสู่ “การโต้กลับ” ได้