‘จีน-ไต้หวัน’ การเมืองเรื่องโคโรน่าไวรัส

‘จีน-ไต้หวัน’ การเมืองเรื่องโคโรน่าไวรัส

‘จีน-ไต้หวัน’การเมืองเรื่องโคโรน่าไวรัส ขณะผู้นำไต้หวันระบุว่าประชาชน 23 ล้านคนของไต้หวันเผชิญหน้ากับความเสี่ยงและภัยคุกคามจากโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่แตกต่างจากประชาชนส่วนอื่นๆ ของโลก

สัปดาห์ที่ผ่านมาโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ุใหม่จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ทางภาคกลางของจีนระบาดหนักขึ้นทุกที ข่าวสารแต่ละวันรายงานยอดผู้เสียชีวิตและติดเชื้อที่พุ่งไม่หยุดแถมยังขยายพื้นที่ออกไป จนลืมไปว่าท่ามกลางสถานการณ์ระบาดยังมีความขุ่นข้องหมองใจระหว่างจีนกับไต้หวันเกิดขึ้น

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมาไต้หวันถูกมองว่าเป็นชาติอธิปไตยโดยพฤตินัย ผงาดขึ้นเป็นประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย แต่ถูกจำกัดบทบาทในเวทีโลก มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไม่กี่ประเทศ ส่วนเวทีประชุมสำคัญโลกก็ถูกรัฐบาลปักกิ่งกดดันจนไต้หวันไม่มีโอกาสเข้าร่วม เช่น การประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (ดับเบิลยูเอชเอ) การประชุมเวทีสำคัญขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ที่ไต้หวันไม่ได้เข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2560 จากแรงกกดดันของจีนตอบโต้ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ผู้มีนโยบายแข็งกร้าว และเธอก็เพิ่งชนะเลือกตั้งวาระ 2 มาแบบถล่มทลายเมื่อหลายวันก่อน

เมื่อวันพุธ (22 ม.ค.) ประธานาธิบดีไช่เรียกร้องอีกครั้ง ให้ไต้หวันได้รับอนุญาติเข้าประชุมดับเบิลยูเอชโอและองค์กรอื่นๆ ได้

“การเมืองจะต้องไม่เหนือกว่าการปกป้องประชาชน” ประธานาธิบดีไต้หวันย้ำ พร้อมเสริมว่า ประชาชน 23 ล้านคนของไต้หวันประสบความเสี่ยงและภัยคุกคามจากโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่แตกต่างจากประชาชนส่วนอื่นๆ ของโลก

“ดิฉันต้องการเรียกร้องอีกครั้ง ขอดับเบิลยูเอชโออย่ากีดกันไต้หวันเพราะเหตุผลทางการเมือง ไต้หวันคือด่านหน้าในการป้องกันโรคติดเชื้อระดับโลก ดับเบิลยูเอชโอจึงควรมีที่ให้ไต้หวันได้เข้าไปมีส่วนร่วม”

157991320170

ปักกิ่งมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน โดยประกาศว่าสักวันหนึ่งถ้าจำเป็นก็อาจต้องใช้กำลังยึดมา ตอนที่ไช่ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีวาระแรกเมื่อปี 2559 เธอไม่ยอมรับว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” ปักกิ่งจึงโดดเดี่ยวไต้หวันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเร่งกดดันทางทหารและเศรษฐกิจ ดึงมิตรประเทศของไต้หวันให้มาสถาปนาทางการทูตกับปักกิ่งได้เพิ่มอีก 7 ประเทศ

นอกจากนี้ จีนยังกดดันให้บริษัทต่างๆ จัดให้ไต้หวันอยู่ในฐานะมณฑลหนึ่งของจีน ไม่ใช่เป็นอีกดินแดนหนึ่ง ซึ่งความพยายามกีดกันไต้หวันออกจากองค์กรระหว่างประเทศระดับโลกประสบผลสำเร็จ นอกจากไม่ได้เข้าประชุมดับเบิลยูเอชเอแล้ว ไต้หวันยังไม่ได้อยู่ในองค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลการบินของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

เดิมทีไต้หวันเคยเป็นสมาชิกยูเอ็นมาก่อน แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนมาเสียบแทนในปี 2514 นักการทูตและนักข่าวก็ถูกกีดกันบ่อยครั้งเพราะถือหนังสือเดินทางไต้หวัน

เมื่อเดือน ธ.ค. เว็บไซต์ข่าวเอเซียสของสหรัฐรายงานว่า พนักงานไต้หวัน 2 คนของธนาคารโลกได้รับแจ้งให้ใช้หนังสือเดินทางจีน เอเซียสเผยด้วยว่า หลังจากเว็บไซต์รายงานข่าวออกไปธนาคารโลกก็เปลี่ยนนโยบาย

ประธานาธิบดีไช่ยังแสดงความเห็นจี้ใจดำจีนอีกจุดหนึ่ง เธอเรียกร้องให้จีนเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างเปิดกว้างและโปร่งใส แบ่งปันข้อมูลกับไต้หวันเต็มที่และถูกต้องแม่นยำ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวว่า การระบาดของไวรัสอู่ฮั่นรอบนี้จีนแบ่งปันข้อมูลอย่างเปิดกว้างและรวดเร็วว่าตอนที่โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ระบาดเมื่อปี 2545 ที่จีนปิดข้อมูลอยู่หลายเดือน แต่คนไต้หวันก็ยังไม่เชื่อใจจีนเพราะเคยทำพฤติกรรมให้เห็นมาแล้ว ตอนนั้นสื่อรายงานว่า ไต้หวันเข้าไม่ถึงข้อมูลสำคัญจากปักกิ่งและดับเบิลยูเอชโอ บั่นทอนศักยภาพในการต่อสู้กับซาร์ส

“จีนตอบสนองช้าตอนที่ซาร์สระบาด ไม่ว่าจะเป็นการสอบหาสาเหตุหรือเผยแพร่ข้อมูล ตอนนี้จีนเผยข้อมูลเร็วขึ้น” หวง หลี่หมิน ประธานสมาคมโรคติดเชื้อไต้หวันเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี

แต่สำหรับชาวเน็ตไต้หวัน พวกเขารู้สึกโกรธขึ้งที่ไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกดับเบิลยูเอชโอ นักวิชาการชื่อเจสสิกา ดรัน ทวีตข้อความในบัญชีดับเบิลยูเอชโอโดยตรงเรียกร้องให้ไต้หวันได้เข้าร่วมประชุมด้วย

การที่ประธานาธิบดีไต้หวันเปิดประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลของจีนถือว่าตีตรงจุดเพราะแม้แต่สื่อรัฐแดนมังกรก็ยอมรับว่า “ในยุคโซเชียลมีเดียหน่วยงานรัฐไม่มีทางปกปิดข้อมูลได้แม้อยากจะปกปิดก็ตาม”

157991319379

จง หนานชาน นักวิทยาศาสตร์คนดังจากคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ทางการเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ยืนยัน “ทั้งประเทศเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ การระบาดแบบซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อนจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก”

แต่คนในพูดหรือจะเท่ากับคนนอกชมเชย

“ทางการจีนยินดีร่วมมือชนิดที่โปร่งใสขึ้นและเร็วขึ้นกว่าตอนที่ซาร์สระบาด นี่เป็นทัศนคติที่แตกต่างอย่างมากกับเมื่อปี 2546 แม้ยังมีคำถามคาใจว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงๆ แล้วมีเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจรายงานยอดต่ำกว่าความเป็นจริง” อังตวน ฟลาโฮต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยสาธารณสุขสวิตเซอร์แลนด์ให้ความเห็น

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวเมื่อวันพุธ (22 ม.ค.) ชมเชยจีนว่า มีมาตรการที่ชัดเจนมากๆ ทั้งยังเปิดกว้างอย่างน่ายกย่อง

กรณีของซาร์สจีนพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน พ.ย.2545 แต่กว่าจะเปิดเผยอย่างเป็นทางการก็รอจนถึงเดือน ก.พ.2546 หลังจากควบคุมได้แล้ว ขณะเดียวกันการประสานงานกับดับเบิลยูเอชโอก็ล้มเหลว แม้องค์กรเรียกร้องให้จีนรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อให้ทราบอย่างครบถ้วน แต่จีนไม่อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญจากดับเบิลยูเอชโอเข้าประเมินสถานการณ์ในมณฑลกวางตุ้ง และไม่ให้เข้าประเมินอาการผู้ป่วยต้องสงสัยติดไวรัสซาร์ส ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทหารปักกิ่ง

ต้นเดือน มิ.ย.2546 ยอดผู้เสียชีวิตจากซาร์สในประเทศจีนสูงถึงกว่า 300 คน ติดเชื้ออีกราว 5,329 คน

ส่วนสถานการณ์ล่าสุด เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐรายหนึี่งเผยจากกรุงวอชิงตัน

มีสัญญาณชวนให้เชื่อได้ว่า รัฐบาลจีนเข้าใจว่าปัญหานี้รุนแรง แต่ไม่วายเตือน “แต่เรายังคงกังวลเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลจีน”

หยาง ต้าลี่ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับความสงบเรียบร้อยของสังคมเหนือสุขภาพประชาชนอาจบั่นทอนความพยายามแก้ปัญหาที่ทำมาก่อนหน้านี้

แต่ใครพูดก็ไม่เท่ากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พูด ผู้นำสหรัฐให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีจากเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น เชื่อมั่นในวิธีการรับมือโรคระบาดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พร้อมย้ำ “ผมมีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับประธานาธิบดีสี”

โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังไม่มีวัคซีนรักษาและสามารถแพร่กระจายผ่านลมหายใจ ความน่าตื่นตระหนกอยู่ตรงที่ยังไม่ทราบจำนวนผู้ป่วยที่แน่ชัด ประเมินไม่ได้ว่าอันตรายและติดต่อกันได้ง่ายแค่ไหน ทราบเพียงว่า อาการทั่วไปมีไข้ ไอ หายใจลำบาก

157991318258

แนวร่วมเพื่อนวัตกรรมป้องกันโรคระบาดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตอนนี้ทีมวิจัย 3 ทีมเริ่มพัฒนาวัคซีนแล้ว คาดว่าวัคซีนอย่างน้อย 1 ตัวจะนำมาทดลองทางคลินิคได้ภายในเดือน มิ.ย.

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ไวรัสใหม่ไม่อันตรายเท่าซาร์ส เมื่อปี 2545-2546 ที่คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 800 คน และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 คน ตั้งแต่ปี 2555