‘เป่ยต้าฮวง’ ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ 'เฮย์หลงเจียง'

‘เป่ยต้าฮวง’ ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ 'เฮย์หลงเจียง'

ประชาชนจีนราว 60% จากจำนวนทั้งหมดบริโภคข้าวที่ปลูกในพื้นที่มณฑลเฮย์หลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทำให้มณฑลแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “ชามข้าวของประเทศ”

"เฮย์หลงเจียง" เป็นดินแดนเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรจำนวนมากนำออกขายสู่ตลาดในแบรนด์เป็นที่รู้จัก "เป่ยต้าฮวง" 

หว่าน จาซู รองประธานกรรมการบริษัท เป่ยต้าฮวง กล่าวว่า ประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่มหาศาลที่สามารถนำมาใช้เพาะปลูกการเกษตรเลี้ยงคนทั้งประเทศ แต่ปัจจัย “สภาพอากาศ” เป็นตัวแปรสำคัญต่อปริมาณผลผลิต ทางบริษัทจึงได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “การเกษตรอัจฉริยะ” เข้ามาควบคุมให้ได้จำนวนผลผลิตที่ต้องการ และสามารถเพาะปลูกได้ในทุกฤดูกาล ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถพัฒนาผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพดีและจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น 

158090804325

หว่าน กล่าวถึงเทคโนโลยีการเกษตรแนวใหม่ของเป่ยต้าฮวง ระหว่างพบปะกับสื่อมวลชนต่างชาติที่มาเยี่ยมชมแนวทางเกษตรสมัยใหม่ของเป่ยต้าฮวงที่ประสบความสำเร็จ  ในการช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 

เป่ยต้าฮวง  เป็นรัฐวิสาหกิจที่ช่วยส่งเสริมกรรมวิธีการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ใหญ่สุดของประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มณฑลเฮย์หลงเจียง อีกทั้งมีพันธมิตรทางธุรกิจใน 60 ประเทศทั่วโลก และยังได้จัดตั้งสำนักงานในต่างประเทศรวม 13 แห่ง ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย และรัสเซีย

เป่ยต้าฮวง เป็นธุรกิจการเกษตรที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป ข้าว น้ำมันพืช นม น้ำแร่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เวชภัณฑ์ และซูปเปอร์มาร์เก็ต ในแต่ละปีสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรมากกว่า 22,500 ล้านตันต่อปี ขณะที่รายได้อยู่ที่ 121,400 ล้านหยวนหรือ 18,330 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 ซึ่งถูกจัดให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 133 ของประเทศ

ด้าน เฉิง จิ้นกู เจ้าหน้าที่ของบริษัทเป่ยต้าฮวง กล่าวถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ถูกนำมาใช้ล่าสุดว่า บริษัทได้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (ไอโอที) เข้ามาทำงานผ่านแอพพลิเคชันชื่อ “Modern Agriculture” เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเพาะปลูก แสงสว่าง ระดับความชื้น และอุณหภูมิ จากนั้นจะประมวลผลวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลนำไปสู่การปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ 

158090819980

แอพพลิเคชันนี้ จะช่วยให้เกษตรกรรู้ถึงสภาพอากาศ และปริมาณแสงแดดในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ รวมถึงพยากรณ์อากาศล่วงหน้าภายในสัปดาห์ เป็นข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศที่ติดตั้งในพื้นที่เพาะปลูกแต่ละแห่ง ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลและถ่ายโอนไปยังแอพพลิเคชัน  ซึ่งข้อมูลที่แสดงในแอพพลิเคชันเป็นรายงานสภาพอากาศจากสถานที่เพาะปลูกจริง นี่คือเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่สร้างขึ้นมาเพื่อธุรกิจนี้

"นอกจากเทคโนโลยีนี้จะเป็นผู้ช่วยให้กับเกษตรกรแล้ว ยังเป็นเครื่องมือช่วยเหลือให้สามารถเพาะปลูกนอกฤดูกาล และสามารถกำหนดช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม นั่นหมายถึง เมื่อความสามารถในการเพาะปลูกสูงขึ้น ย่อมสร้างความแตกต่างให้กับตลาด และสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นด้วย" เฉิงกล่าว   

ทั้งนี้  เจ้าหน้าที่บริษัทเป่ยต้าฮวงได้พาคณะสื่อมวลชนต่างชาติลงพื้นที่เมืองอาเฉิง ทางใต้ของมณฑลเฮย์หลงเจียง เพื่อเยี่ยมชม อาคารเพาะปลูกที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว โดยสามารถปลูกพืชได้แม้ในอุณหภูมิ - 38 องศาเซลเซียส 

158090821676

เฉิง เล่าว่า สำหรับอาคารเพาะปลูกแห่งนี้สร้างขึ้น สำหรับปลูกผักและผลไม้เมืองหนาว อาทิ ผักกาดหอมกรีนโอ๊ค  ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก เซเลอรี่ มะเขือเทศ และสตรอว์เบอรี่ ล้วนแต่เป็นพืชการเศรษฐกิจสามารถทำเงินอย่างมหาศาล 

“สตรอว์เบอรี่ที่ปลูกในอาคารแห่งนี้เป็นพันธุ์ 888 คัดพิเศษเกรดเอ ขายในราคากิโลกรัมละ 220 หยวน โดยในปีหนึ่งๆ สามารถปลูกได้ผลผลิตมากถึง 1 แสนตัน จัดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างกำไรได้ดี” เจ้าหน้าที่บริษัทเป่ยต้าฮวงเล่า พร้อมกับระบุภายในอาคารเพาะปลูกหนึ่งๆ เกษตรกรสามารถปลูกสตอเบอรี่ควบคู่กับผักเมืองหนาวประเภทอื่นๆ เพราะมีการควบคุมปัจจัยด้านเพาะปลูกที่ใกล้เคียงกัน 

158090824486

158090837736 158090856395

สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะได้ถูกควบคุมด้วยดาวเทียม ซึ่งจะช่วยเฝ้าติดตามการเติบโตของพืชผัก ช่วงเวลาที่ต้องรดน้ำให้ปุ๋ย และคาดการณ์ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ  เนื่องด้วยบริษัทเป่ยต้าฮวงมีพื้นที่เกษตรที่ร่วมโครงการอยู่ประมาณ 18 ล้านไร่ การใช้กำลังคนอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการใช้ดาวเทียมเข้ามาช่วยจะสามารถแบ่งเบาภาระจากการใช้แรงงาน และครอบคลุมกระบวนการเพาะปลูกได้ดียิ่งกว่า และลดค่าใช้จ่ายกว่าการปลูกแบบดังเดิม 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ในมณฑลเฮย์หลงเจียงได้เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งส่งผลดีต่อการเพิ่มปริมาณ  คุณภาพ และรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร แต่เหนือสิ่งอื่นใดได้สร้างความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในประเทศ