‘ตัวนิ่ม’ ผู้ต้องสงสัยแพร่ไวรัสโคโรน่ารายใหม่
คณะนักวิทยาศาสตร์จีนชี้ “ตัวนิ่ม” สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ที่มักถูกนำมาทำเป็นอาหารและยา อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทั่วประเทศจีน
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการเกษตรจีนใต้ (South China Agricultural University) ในเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง แถลงว่า ตัวนิ่ม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใกล้สูญพันธุ์ซึ่งในเอเชียมักนิยมนำไปทำเป็นอาหารและยา อาจเป็น "ตัวกลาง" ในการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
บรรดานักวิจัยตั้งสมมติฐานมานานว่า ไวรัสดังกล่าวซึ่งตอนนี้คร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 630 คนและมีผู้ติดเชื้อราว 31,000 คนทั่วโลก (นับถึงวันที่ 7 ก.พ.) แพร่ระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยมีต้นตอจากตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีการขายสัตว์ป่ามีชีวิตด้วย และเชื่อกันว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่มีต้นกำเนิดจากค้างคาว แต่นักวิจัยบางส่วนคาดว่าไวรัสนี้อาจมีสัตว์ชนิดอื่นเป็น “ตัวกลาง” ในการระบาดสู่มนุษย์
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยการเกษตรจีนใต้พบว่า รหัสพันธุกรรมของไวรัสที่พบในตัวนิ่มกับรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่พบในผู้ป่วยมนุษย์ตรงกันถึง 99% หลังมีการทดสอบตัวอย่าง 1,000 ชิ้นที่ได้จากสัตว์ป่า
กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ระบุว่า ตัวนิ่มเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกประเภทหนึ่งที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดในเอเชีย แม้ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเนื้อของตัวนิ่มถูกจัดว่าเป็นอาหารรสเลิศในหลายประเทศรวมถึงจีน
ขณะที่สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ระบุว่า ตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ถูกลักลอบค้ามากที่สุดในโลก และถูกล่าไปกว่า 1 ล้านตัวในป่าเอเชียและแอฟริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดเป้าหมายอยู่ที่จีนและเวียดนาม ซึ่งนิยมนำเกล็ดไปทำยาแผนโบราณ แม้ไม่มีคุณประโยชน์ทางการแพทย์ก็ตาม และเนื้อของมันยังถูกจำหน่ายในตลาดมืดด้วย
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญในตะวันตกเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยครั้งนี้
เจมส์ วูด ศาสตราจารย์ด้านสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ เผยว่า การรายงานเพียงความคล้ายคลึงกันระหว่างรหัสพันธุกรรมของไวรัสนั้นยัง “ไม่เพียงพอ” และผลดังกล่าวอาจเกิดจาก “การปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสติดเชื้อสูง”
ขณะที่ โจนาธาน เบลล์ ศาสตราจารย์ไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมในอังกฤษ บอกว่า ต้องการเห็นข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจว่าไวรัสที่พบในมนุษย์และตัวนิ่มเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ทั้งนี้ ทางการจีนได้สั่งห้ามค้าสัตว์ป่าทุกชนิดตั้งแต่เดือน ม.ค. ไปจนกว่าสถานการณ์ไวรัสระบาดจะอยู่ในระดับควบคุมได้