มาเลเซียดัน ‘ฮาลาล’ ชิงชัยโตเกียวโอลิมปิก
มาเลเซียต้องการใช้โตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกเป็นสปริงบอร์ด หนุนการส่งออกสินค้าฮาลาลที่มี
โตเกียวโอลิมปิก 2020 มหกรรมกีฬาใหญ่สุดของโลกที่กำลังมาถึง ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทอาหารมาเลเซียได้ประกาศศักดา โรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์กำลังเตรียมทำอาหารฮาลาลพร้อมรับประทานหลายพันกล่อง ตั้งแต่ข้าวผัดไปจนถึงข้าวหมกไก่ส่งไปญี่ปุ่น
คาดกันว่าโอลิมปิกปีนี้ผู้ชนะคือบริษัทอาหารมาเลเซีย เนื่องจากนักท่องเที่ยวมุสลิมพากันหลั่งไหลไปชมการแข่งขันทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ญี่ปุ่น ระหว่างปลายเดือน ก.ค.ไปจนถึง ก.ย.
“นี่คือแพลตฟอร์มที่ใหญ่และเป็นโอกาสสำหรับพวกเรา ความตั้งใจของเราไม่ใช่แค่งานโอลิมปิก แต่เข้าไปแล้วอยู่ยาว” อาหมัด ฮูไซนรี ฮัสซัน ประธานบริษัทผลิตอาหาร “มายเชฟ” ในกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
มาเลเซียต้องการใช้โตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกเป็นสปริงบอร์ด หนุนการส่งออกสินค้าฮาลาลที่มีทั้งอาหารและเครื่องสำอาง ให้เพิ่มขึ้นราว 1 ใน 5 ในปีนี้ มาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากในปี 2561 มาเลเซียส่งออกสินค้าฮาลาลไปญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่า 604 ดอลลาร์ 90% เป็นอาหารและส่วนผสมอาหาร แต่มาเลเซียก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือด้านฮาลาลกับรัฐบาลโตเกียวในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้
อาหมัด ฮูไซนี กล่าวว่า มายเชฟต้องการเพิ่มรายได้ขึ้นเป็น 3 เท่าให้ได้ 1 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และกำลังเจรจากับอิออน บริษัทค้าปลีกแดนซากุระ ร่วมพัฒนาไลน์อาหารสำเร็จรูปและของว่างฮาลาล
ขณะนี้การค้าอาหารฮาลาลของมาเลเซียที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ยังล้าหลังชาติที่ไม่ใช่มุสลิมอย่างสหรัฐ จีน และบราซิล บริษัทข้อมูล “รีเสิร์ชแอนด์มาร์เก็ตส์” ในกรุงดับลินคาดว่ามูลค่าตลาดฮาลาลโลกจะทะลุ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากเมื่อปี 2560
รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์กำหนดเป้าขายอาหารและสินค้าฮาลาลให้กับชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ช่วงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกไว้สูงมากที่ 300 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังได้จัดงาน “มาเลเซีย สตรีท 2020” ควบคู่กับโอลิมปิกมาเป็นตัวช่วย เปิดให้ภาคธุรกิจขายสินค้าและพบปะผู้สื่อและตัวแทนจำหน่ายชาวญี่ปุ่น
“เราได้เรียนรู้จากทางการมาเลเซียมากมายและในทางกลับกันบริษัทมาเลเซียก็มีโอกาสขยายธุรกิจ” ฮิเดโตะ นาคาจิมะที่ปรึกษาเศรษฐกิจจากสถานทูตญี่ปุ่นในมาเลเซียกล่าว
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ช่วงไม่กี่ปีหลังนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคนี้เข้าไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากญี่ปุ่นผ่อนคลายระเบียบวีซ่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวปีนี้ให้ได้ถึง 40 ล้านคนตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ซึ่งมาเลเซียคาดว่าในจำนวนนี้เป็นชาวมุสลิม 8 ล้านคน
สำหรับเอชคิวซี คอมเมิร์ซ 1 ใน 4 บริษัทที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหอกนำทัพอาหารฮาลาลมาเลเซียไปญี่ปุ่นมองว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกถือเป็นการโยนหินถามทางไปหาสิ่งที่ใหญ่กว่า
“เรารู้ว่าช่วงโอลิมปิกความต้องการจะมีสูงที่สุด นี่จึงเป็นเวลาให้เราได้โปรโมทสินค้ามาเลเซีย” ไครุล ชาห์ริล ฮัมซาห์ ซีอีโอเอชคิวซีกล่าว
เท่านั้นยังไม่พอ ในเดือน เม.ย.นี้แดนเสือเหลืองจะเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการฮาลาลครั้งใหญ่สุดของโลก กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย แถลงเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า งานฮาลาลนานาชาติมาเลเซีย (เอ็มไอเอชเอเอส) ปีนี้จะจัดขึ้นในธีม “เปิดฟ้าฮาลาล” มีบริษัทจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 1,200 บูธล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ผู้ซื้อ ดิสทริบิวเตอร์ ที่มีความพร้อมและมีใบรับรองฮาลาล ส่วนผู้ร่วมชมงานก็คาดว่าจะมากันมากที่สุด ราว 35,000 คนจาก 90 ประเทศ นับตั้งแต่เริ่มต้นจัดงานในปี 2547
ผู้จัดเผยด้วยว่า งานเอ็มไอเอชเอเอส 2020 จะเน้นที่ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ของสหประชาชาติ
ส่วนอีกหนึ่งความพยายามส่งเสริมสินค้าฮาลาล เว็บไซต์โคเรียเฮอรัลด์รายงานว่า หลายวันก่อนบรรษัทพัฒนาการค้าต่างประเทศของมาเลเซีย จัดงานประชุมเครือข่ายที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ แนะนำโอกาสการขยายตลาดฮาลาลในมาเลเซียและทั่วโลก รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์คาดว่า ประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มจาก 1.8 พันล้านคนเป็น 3 พันล้านคน ภายในปี 2603
นอร์ฮาร์ลิซา โมฮัมเหม็ด ยูโนส คณะกรรมการการค้าบรรษัทพัฒนาการค้าต่างประเทศมาเลเซีย ย้ำว่าการเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับฮาลาลในเกาหลีใต้นั้นสำคัญมาก
“เกาหลีใต้มีร้านอาหารฮาลาลเพียง 14 แห่ง มีร้านอาหารที่อำนวยความสะดวกแก่ชาวมุสลิม 255 แห่ง และโรงแรมที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม” ดังนั้นการจับคู่ทางธุรกิจจะช่วยให้อุตสาหกรรมฮาลาลมาเลเซียไปได้ ตอบสนองความต้องการของเกาหลีใต้ได้ดียิ่งขึ้น