จับตา 'ขุนคลัง-พรรคอัมโน' ครม.ชุดใหม่มาเลเซีย
จับตา “ขุนคลัง” ในครม.ชุดใหม่ของมาเลเซีย หลังนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน แต่งตั้งอดีตซีอีโอแบงก์ยักษ์ใหญ่ของประเทศมาคุมกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย ที่ดึงคนนอกมากำกับทิศทางนโยบายการคลังของประเทศ
วานนี้ (10 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยาสซิน ได้เปิดตัวคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของมาเลเซีย ที่ไม่มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และดึงคนนอกดูแลการคลังของประเทศ รวมทั้งการกลับมาของพรรคอัมโน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เพิ่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา กล่าวว่า ต้องการให้รัฐมนตรีทุกคนทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบที่สุด ครอบคลุมการแบ่งเบาภาระงานของเขาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสามารถประชุมกันเองได้ในยามที่เขาติดภารกิจภายนอก
มูห์ยิดดิน มองว่า การแต่งตั้งรัฐมนตรีอาวุโสในหลายกระทรวง ไม่มีความจำเป็นต้องมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงสำคัญๆ ยังอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคคนพื้นถิ่นสามัคคี (เบอร์ซาตู) ของดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด แต่ยังมีกระทรวงสำคัญอีกหลายแห่งเป็นโควตาของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ (อัมโน) พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ซึ่งหลุดจากการร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ หรือนับตั้งแต่การได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2500 หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2561 ให้กับพรรคเบอร์ซาตูและพันธมิตรในนามปากาตัน ฮาราปัน หรือ พันธมิตรแห่งความหวัง
ส่วนโควตาของพรรคอัมโนรวมถึง ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน อดีตรมว.กระทรวงกลาโหมและกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค รับตำแหน่งรมว.กระทรวงการต่างประเทศ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ เป็นรมว.กระทรวงกลาโหม และอัมฮาม บาบา ดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ตำแหน่งซึ่งถือว่าสร้างความประหลาดใจสำหรับทุกฝ่าย คือการที่มูห์ยิดดินแต่งตั้ง ซาฟรุล อาซิซ อดีตประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของธนาคารซีไอเอ็มบี สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เป็นรมว.กระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของมาเลเซีย ที่ดึงคนนอกมากุมบังเหียนนโยบายการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ ผู้นำมาเลเซียยังตั้ง 3 กระทรวงใหม่ คือกระทรวงเอกภาพแห่งชาติ กระทรวงสิ่งแวดล้อมโดยแยกออกจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการศึกษาระดับสูง และกระทรวงกิจการซาบาห์และซาราวัก
ด้านนักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียให้ความเห็นเรื่องการไม่มีรองนายกรัฐมนตรีและการตั้งกระทรวงใหม่ว่า อย่างน้อยที่สุด มูห์ยิดดินก็ต้องการทำอะไรใหม่ แม้การกลับเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคอัมโนคือสัญญาณว่าทุกอย่างจะยังคงเหมือนเดิม ท่ามกลางการจับตาเรื่องกระบวนการไต่สวนคดีคอร์รัปชั่นของนาจิบ ที่เชื่อมโยงกับการยักยอกเงินมหาศาลจากกองทุนพัฒนาแห่งชาติ “วันเอ็มดีบี” (1MDB)
วันเดียวกันนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังประกาศแต่งตั้ง อาซัม บากี รองประธานคณะกรรมการปราบปรามทุจริตเป็นประธานคนใหม่แทน ลาธีฟา โคยา ที่ลาออกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ถือเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลมหาธีร์ที่ลาออกเป็นคนที่ 2 ในรัฐบาลนี้ ตามหลัง ทอมมี โทมัส ที่ลาออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ทั้งคู่ทำคดีทุจริตในวันเอ็มดีบีที่มีสมาชิกของพรรคอัมโนถูกกล่าวหาว่าพัวพันด้วย หนึ่งในนั้นคืออดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ที่กำลังถูกไต่สวนอยู่
ช่วงที่ มูห์ยิดดิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เกิดกระแสไม่พอใจบนโลกออนไลน์ในมาเลเซีย โดยชาวเน็ตแห่ติดแฮชแท็ก #NotMyPM และมีชาวมาเลเซียกว่า 100,000 คนร่วมลงชื่อออนไลน์ ระบุว่า การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมูห์ยิดดิน คือการทรยศเสียงของประชาชนจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค. 2561 ที่พรรคอัมโนพ่ายแพ้ชนิดขาดลอย
แต่ในแวดวงการเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร โดยเมื่อปี 2561 มหาธีร์ผนึกกำลังกับอันวาร์ อิบราฮิม อดีตทายาททางการเมืองที่ต่อมากลายมาเป็นศัตรู แล้วกลับมาเป็นพันธมิตรกันอีกรอบ ช่วยกันโค่นล้มอดีตนายกฯนาจิบ และโค่นการผูกขาดของพรรคอัมโน พรรคที่พวกเขาทั้งคู่เคยเป็นสมาชิกและทำให้พรรคยิ่งใหญ่ขึ้นมา
นาจิบ ถูกโจมตีอย่างหนักจากกรณีอื้อฉาว วันเอ็มดีบี ที่ฉ้อโกงเงินหลวงไปใช้ส่วนตัว ซึ่งกรณีอื้อฉาวนี้ประกอบกับการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้มาเลเซียถดถอยลงไปมากในช่วงไม่กี่ปีหลังจนเกิดกระแสโหยหาผู้นำที่มีความสามารถเข้ามากอบกู้สถานการณ์
ส่วนมหาธีร์ที่ล้างมือในอ่างทองคำไปหลายปี ก็ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำมหาชนโค่นล้มอดีตลูกพรรคเดียวกับเขา แต่ตอนนี้กลายมาเป็นตัวร้ายในทางการเมืองและเพื่อที่จะโค่นพรรคอัมโนที่มีอิทธิพลมานานหลายปี มหาธีร์จึงยอมจับมือกับอันวาร์ ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับเขาในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเมื่อหลายปีก่อน