ทูตคนใหม่ 'สหรัฐ' เน้นเชื่อมสัมพันธ์การค้า-ลงทุนไทย
เปิดภารกิจสำคัญของ "ไมเคิล จี.ดีซอมบรี" เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยคนใหม่ นอกจากการกระชับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ยังมีอะไรบ้างที่ท่านทูตมุ่งมั่นผลักดัน หลังจากตำแหน่งนี้ว่างเว้นมานานกว่า 1 ปี
เปิดภารกิจสำคัญของ "ไมเคิล จี.ดีซอมบรี" เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยคนใหม่ ที่มุ่งมั่นผลักดันเป็นเรื่องแรก นอกจากการกระชับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ หลังจากตำแหน่งนี้ว่างเว้นมานานกว่า 1 ปี
ดีซอมบรี ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ภารกิจสำคัญที่ต้องการผลักดันคือการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ-ไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) การค้า และการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนทั้งในสหรัฐ และไทย โดยเห็นว่า การมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยความสะดวก และดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงการสร้างโอกาสจับคู่ทางธุรกิจ จะช่วยเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้
ขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากที่ไทยจัดการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ปี2562 ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจชาวอเมริกัน โดยสหรัฐยังคงส่งเสริมหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไม่ได้เลือกข้าง หรือสนับสนุนพรรคการเมืองใดในประเทศไทย ล่าสุด ได้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอีก 6 คน เมื่อเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเห็นถึงทิศทางวิถีแห่งประชาธิปไตยในเชิงบวก
“หลังจากผมเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐ ผมมีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจสหรัฐในไทย ซึ่งพูดตรงกันว่า นี่เป็นโอกาสที่ดี และควรพิจารณาให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ของบริษัทสหรัฐ” ดีซอมบรีกล่าวและย้ำว่า สหรัฐมุ่งมั่นกระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับไทย ตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับไทย ปี 2509
ดีซอมบรี บอกว่า ได้ชักชวนนักธุรกิจสหรัฐให้เข้ามาลงทุนใหม่ๆ ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่นการเข้าร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบสมาร์ทแฟคตอรี และสนามทดสอบระบบสัญญาณ 5จี ซึ่งสหรัฐมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษญ์ (เอไอ) แมชชีนเลิร์นนิง คลาวด์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (ไอโอที)และ ขณะนี้ มีบริษัทซิสโก้ เฟซบุ๊ค กูเกิล และบริษัทอีกหลายแห่งสนใจเข้าร่วม
นอกจากนี้ สหรัฐ ยังต้องการผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอนุภูมิภาคนี้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งการที่อาเซียนจัดทำแนวคิดอินโด-แปซิฟิก เป็นสิ่งยืนยันความมุ่งมั่นต่อการขยายขอบเขตความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืน และเกื้อกูลกันอย่างใกล้ชิด
“เสาหลักความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันต้องการผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือด้านการลงทุนใหม่ๆที่นำไปสู่การจ้างงาน และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ่้น ตามที่สหรัฐมีแนวนโยบายลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุน US. International Development Finance Corporation มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ และเอ็กซิมแบงก์ของสหรัฐ มูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์” ดีซอมบรี ระบุ
ส่วนกรณีที่สหรัฐจะดำเนินการระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้าไทย (จีเอสพี) จำนวน 573 รายการ จาก 3,500 รายการ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ตนเห็นว่า เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย และเรื่องนี้มีกระบวนการที่เกิดขึ้นมายาวนาน เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้ไทยปรับปรุงมาตรฐานด้านแรงงาน หวังให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันการระงับสิทธิจีเอสพี อันจะส่งผลกระทบต่อการระงับนำเข้าสินค้า 1 ใน 3 ของไทยไปยังสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียรายได้ประมาณ1,300 ล้านดอลลาร์ และถึงแม้จะตัดสิทธิจีเอสพี ไทยก็ยังได้ดุลการค้าจากสหรัฐอยู่ โดยมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอยู่ที่ 3,400 ล้านดอลลาร์
“ที่ผ่านมา ลอบบี้ยิสต์และกลุ่มเอ็นจีโอพยายามชี้ชวนผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐให้เห็นว่า กฎหมายแรงงานของไทยไม่ผ่านมาตรฐานสากล มีการปฏิเสธสิทธิและข้อเรียกร้องด้านแรงงาน ขณะที่รัฐบาลสหรัฐหวังจะเห็นมาตรฐานแรงงานไทยสูงขึ้น” เอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวย้ำ
ส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ส่งผลต่อประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก ดีซอมบรี กล่าวว่า การค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ส่งผลกระทบในทางลบต่อสหรัฐและหลายประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว ขณะนี้สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนได้แล้ว และสหรัฐกำลังรอคอยการเจรจาเฟสสอง
ดีซอมบรี มองว่า กระบวนการดังกล่าวจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์มากต่อประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะมีบริษัทสหรัฐจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความกังวลที่มีความขัดแย้ง และผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน สำหรับไทยแล้ว สหรัฐ พร้อมสนับสนุนและรอคอยจะร่วมงานกับรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมบริษัทต่างๆ ให้ย้ายห่วงโซ่อุปทานจากประเทศจีนมาไทย
ส่วนที่การพบปะระดับผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษที่ถูกเลื่อนออกไป เป็นการตัดสินใจที่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิด ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐกับผู้นำอาเซียนอื่นๆ โดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กระจายวงกว้าง ทำให้เกิดความเห็นตรงกันว่า ควรจะเลื่อนออกไปก่อน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะจัดให้ผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ได้พบปะกันโดยเร็วที่สุดในเวลาที่เหมาะสม
ที่ผ่านมา สหรัฐ มีบทบาทให้การช่วยเหลือและร่วมคลี่คลายการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในหลายประเทศ ในส่วนของไทยนั้น สหรัฐมีหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย และกระทรวงสาธารณสุขไทยอย่างใกล้ชิด โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (ยูเสด) ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล (PPE) ให้แก่กรมควบคุมโรค เพื่อที่รัฐบาลไทยจะนำไปแจกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้ ตอกย้ำความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างสหรัฐและไทยได้อย่างดี
แม้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวปิดท้ายว่า ในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอน อาจทำให้ตัดสินใจยากลำบาก แต่ในวิกฤตเช่นนี้อาจสร้างโอกาสได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะลู่ทางลงทุน หรือขยายธุรกิจเพิ่มเติมจากเดิม