เปิดแนวคิดระเบียงท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจ 'นิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย'

เปิดแนวคิดระเบียงท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจ 'นิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย'

ขณะนี้ บรรดานักการเมืองจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กำลังหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปิดพรมแดนของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างระเบียงท่องเที่ยว หรือ "ทราเวล บับเบิล" ระหว่างสองประเทศ ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เดือน มี.ค.

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ยังคงเล่นงานประเทศต่างๆแม้บางประเทศยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจะเริ่มทรงตัว หรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ทว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่จะไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆได้อย่างเต็มที่เหมือนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้แน่ๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ พวกคุณอยากเดินทางไปเที่ยวที่ไหนบ้าง?

ตอนนี้บรรดานักการเมืองจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กำลังหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปิดพรมแดนของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างระเบียงท่องเที่ยว หรือ "ทราเวล บับเบิล" ระหว่างสองประเทศ  ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เดือน มี.ค. สองประเทศนี้เกือบปิดพรมแดนประเทศของตน 100% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่ประเทศทั้งสอง แต่เมื่อทั้งสองประเทศเริ่มควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว บรรดานักการเมืองทั้งสองประเทศก็เริ่มหารือเกี่ยวกับการเปิดพรมแดนของแต่ละฝ่าย

“ถ้าจะมีประเทศใดในโลกที่เราจะร่วมมือด้วยในเรื่องของการท่องเที่ยว เราเลือกนิวซีแลนด์แน่นอน” สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้ว 

ขณะที่ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า “ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับออสเตรเลีย เป็นสิ่งที่นิวซีแลนด์ต้องการอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการทำให้แน่ใจว่า ทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สามารถจัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้วเสียก่อน เราจึงมั่นใจพอที่จะเปิดประเทศ”

158875673052

แม้ตอนนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการ “ทราเวล บับเบิล” ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเป็นรูปธรรมเมื่อใด เพราะทั้งสองประเทศยังคงมีมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางภายในประเทศ ส่วนนักเดินทางจากต่างชาติทุกคนหากเดินทางเข้าสองประเทศนี้จะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันเพื่อดูอาการ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มั่นใจว่า สองประเทศนี้จะเปิดพรมแดนระหว่างกันในเดือน ส.ค. ซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากเพราะในช่วงเดือนนี้เป็นฤดูกาลเล่นสกีในนิวซีแลนด์ และช่วงเดือน ก.ย. ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนในสองประเทศนี้ปิดเทอม

มีเหตุผลไม่กี่ข้อที่นิวซีแลนด์และออสเตรเลียพอใจที่จะเลือกแต่ละฝ่ายมาร่วมทำโครงการนี้ แม้ทั้งสองประเทศจะถูกแยกออกจากกันด้วยทะเลกินระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร (1,243ไมล์) แต่ทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ใกล้ชิดกันมากที่สุดในโลก โดยผู้ถือหนังสือเดินทางออสเตรเลียสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและทำงานในนิวซีแลนด์ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ที่สำคัญ ทั้งสองประเทศยังส่งเสริมและพึ่งพาด้านการท่องเที่ยวแก่กันและกันด้วย โดยชาวออสเตรเลีย มีสัดส่วนเกือบ 40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวในนิวซีแลนด์และนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการในนิวซีแลนด์ประมาณ 24%

ส่วนในออสเตรเลีย ชาวนิวซีแลนด์เข้าไปเที่ยวในแดนจิงโจ้ในสัดส่วนประมาณ 15% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม และมีสัดส่วนการใช้จ่ายแค่ 6% ของการใช้จ่ายของต่างชาติโดยรวมในประเทศนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงสร้างรายได้ให้แก่ออสเตรเลียหลายพันล้านดอลลาร์ แม้จะเป็นเพียงอุตสาหกรรมส่งออกใหญ่สุดอันดับ 4 ของประเทศ ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงไม่ต้องแปลกใจที่บรรดาตัวแทนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศขานรับโครงการทราเวล บับเบิล หรือระเบียงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวนี้อย่างมาก

“สารจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกี่ยวกับโครงการนี้คือ เป็นโครงการแห่งโอกาสและเป็นวิธีเดียวที่จะกระตุ้นให้บรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในออสเตรเลียในอนาคตอันใกล้” ไซมอน เวสต์อะเวย์ ผู้อำนวยการบริหารสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออสเตรเลีย กล่าว

158875674285

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศได้หารือกันด้วยว่าถ้าต่อไปโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ อาจจะขยายให้ครอบคลุมประเทศอื่นๆในหมู่เกาะแปซิฟิกที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเหมือนกัน เพราะในมุมมองด้านสาธารณสุข หลายประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกไม่ได้บอบช้ำมากนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ฟิจิ ที่ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อเพียง 18 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งของสหรัฐและไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 140 ราย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย

นักวิเคราะห์และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีความเห็นว่า โมเดลทราเวล บับเบิลของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อาจจะเป็นโมเดลให้แก่ประเทศอื่นๆ ในโลก แต่สองประเทศนี้ก็ต้องทำเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วยที่ไม่ผลีผลามเปิดประเทศเร็วเกินไป จนทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ

“การเปิดประเทศเร็วเกินไป เป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์ประเทศ เพราะทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมองว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สะอาดและน่าเชื่อถือ และตอนนี้หลายประเทศจับตามองสองประเทศนี้อยู่ในฐานะที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ถ้าหากประสบความสำเร็จในการทำโครงการระเบียงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันได้ ก็จะเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆหันมาทำตามแน่นอน” เวสต์อะเวย์ กล่าว