ไต้หวันเปิดจุดอ่อน ‘ไทยชนะ’ แนะ 2 แนวทางแก้ไข
ที่ปรึกษาจากสถาบันเพื่ออุตสาหกรรมสารสนเทศแห่งไต้หวัน เผย แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ยังมีจุดอ่อน พร้อมแนะ 2 แนวทางแก้ไข
ไต้หวัน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า ประสบความสำเร็จในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 เริ่มต้นจากรัฐบาลรับมือได้อย่างทันท่วงทีและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้
ถึงวันนี้ไทยก็มี แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เข้ามาช่วยเหลือในการคัดกรองคนการเข้าห้างสรรพสินค้าของประชาชน ซึ่งยังพบจุดอ่อนอยู่บ้าง ที่ปรึกษาจากไต้หวันได้ชี้แนะถึงการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะให้ดียิ่งขึ้น
ชิต ลี เต๋อ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทวีที กรุ๊ป และที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์และการตลาดต่างประเทศ (ประเทศไทย) แห่งสถาบันเพื่ออุตสาหกรรมสารสนเทศแห่งไต้หวัน ได้วิเคราะห์แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ของประเทศไทย ซึ่งมีวัตุประสงค์ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยง กรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องความหนาแน่น โดยจะช่วยคัดกรองคน กรณีที่มีคนติดเชื้อในสถานที่นั้น พบว่า รูปแบบของแพลตฟอร์ตนี้ เปิดให้ผู้ประกอบการจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ พร้อมรับคิวอาร์โค้ดสำหรับให้ลูกค้าเช็คอินและเช็คเอาท์
ส่วนประชาชนทั่วไป หากจะเข้าไปยังสถานที่นั้น ๆ ก็ต้องสแกนคิวอาร์โค้ด เช็คอิน และเช็คเอาท์เข้าระบบนี้ เพื่อควบคุมความหนาแน่นของคนในสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า และร้านค้า
นอกจากนี้ ยังเป็นการตรวจสอบ และควบคุมให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะตอนเช็คเอาท์นั้น แพลตฟอร์มนี้ยังให้ประชาชนทำแบบประเมินร้านว่า มีมาตรการด้านอนามัยดีหรือไม่ ซึ่งประชาชนยังสามารถค้นหากิจการหรือสถานที่นั้น ๆ และดูระดับคะแนนประเมินก่อนการเข้าใช้บริการได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดใช้วันแรก ก็พบปัญหามากมายตามที่เห็นกันบนสื่อทั่วไปและสื่อสังคมออนไลน์ และจากการได้ทดลองใช้ ไทยชนะ ก็พบจุดบกพร่องของแพลตฟอร์มนี้
"หากวิเคราะห์โดเมนเนม จะพบว่าแพลตฟอร์ม ไทยชนะ ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พ.ค. และเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 17 พ.ค. ดังนั้น ก่อนการเปิดให้ใช้บริการ จึงมีความเป็นไปได้ว่ายังไม่มีการทดลองระบบอย่างสมบูรณ์ หรือกระบวนการการทดสอบระบบก่อนใช้งานจริง ทำให้เกิดจุดบกพร่องด้านการควบคุมความหนาแน่นของคน 2 ข้อด้วยกัน" เต๋อเผย
ข้อแรก เมื่อผู้ใช้เช็คอิน จำเป็นต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีการส่งรหัส SMS เพื่อยืนยัน ซึ่งหมายความว่า คุณสามารถกรอกหมายเลขโทรศัพท์ของคนอื่นเพื่อใช้เช็คอินก็ได้
ข้อสอง ผู้ใช้สามารถเช็คอินสถานที่ใดก็ได้ แม้จะไม่ได้อยู่ที่สถานที่นั้นก็ตาม
เต๋อ กล่าวว่า จุดบกพร่องทั้งสองข้อนี้จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมา อาจมีบางคนใช้หมายเลขโทรศัพท์ของคนอื่นเช็คอิน หรือเช็คอินสถานที่ต่าง ๆ สร้างความสับสน ทำให้แพลตฟอร์มนี้ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการเข้าถึงอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตของคนไทย ซึ่งมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ จึงต้องใช้วิธีการเขียนด้วยมือในการลงทะเบียนแทน ซึ่งมีวิธีการแก้ปัญหาได้ดังนี้
1. แก้ได้ที่ตัวระบบ เช่น จุดบกพร่องแรก สามารถใช้รหัส OTP ยืนยันตัวตนในการแก้ไขปัญหานี้
2. จุดบกพร่องที่สอง สามารถทำ URL encoding เพื่อป้องกันการถอดรหัส URL ไปทำเรื่องไม่ดี
อย่างไรก็ตาม เต๋อซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์มนี้เป็นไอเดียที่ดี แต่ก็ต้องจัดการพื้นฐานให้ดี ระบบถึงจะสมบูรณ์และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมความหนาแน่นของคน และติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้จริง และสุดท้ายประเทศไทยก็จะชนะอย่างแน่นอน