ประวัติศาสตร์โกลาหล เมื่ออาณานิคม หลอกหลอน 'อังกฤษ'
เมื่อการประท้วงต่อต้านเหยียดผิวในสหรัฐและอังกฤษกลายเป็นการทำลายอนุสาวรีย์บุคคลในประวัติศาสตร์ ทางการอังกฤษจึงเริ่มป้องกันอนุสาวรีย์หลายแห่ง รวมถึง "วินส์ตัน เชอร์ชิล"
หลังการประท้วงต่อต้านเหยียดผิวในสหรัฐและอังกฤษ กลายเป็นการทำลายอนุสาวรีย์บุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทในการล่าอาณานิคม ทางการอังกฤษจึงเริ่มป้องกันอนุสาวรีย์หลายแห่ง รวมถึงวินส์ตัน เชอร์ชิล หนึ่งในผู้นำสงครามโลกครั้งที่ 2 และอนุสาวรีย์วีรชนกลางกรุงลอนดอน หลังจากสัญลักษณ์ความทรงจำในที่อื่นๆ ถูกทำลายลงแล้ว
ในเมืองลิเวอร์พูล ป้ายถนนเพนนีเลน ที่กลายเป็นเพลงดังอมตะนิรันดร์กาลของเดอะบีเทิลส์ ในปี 2510 ถูกพ่นสี เพราะตั้งชื่อตามพ่อค้าทาส
ในเมืองแบนนอคเบิร์น ทางภาคกลางของสกอตแลนด์ อนุสาวรีย์กษัตริย์โรเบิร์ต เดอะบรูซ ผู้นำชาวสกอตต่อสู้มีชัยเหนืออังกฤษเมื่อ พ.ศ.1857 ใบหน้าถูกทำลาย ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์เป็นพวกเหยียดผิว
กลายเป็นว่าขณะนี้ อนุสาวรีย์ รูปปั้น ถนน อาคาร ที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ กำลังตกเป็นเป้าทำลายของนักเคลื่อนไหวมากขึ้นทุกที
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ทบทวนการยกย่องบุคคลในประวัติศาสตร์ตามที่สาธารณะ ส่งผลให้อนุสาวรีย์หลายที่ถูกผู้ประท้วงโค่นลงมา หรือย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์
ป้ายถนน Penny Lane ถูกเขียนเพิ่มบนกำแพงด้านข้างว่า 'เพนนี คือ พ่อค้าทาส'
เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ฝูงชนในเมืองบริสตอล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ โค่นอนุสาวรีย์ “เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน” พ่อค้าทาสและเศรษฐีใจบุญยุคศตวรรษที่ 17 ไปทิ้งลงน้ำ
ความเคียดแค้นส่งผลไปถึงความบันเทิง รายการโทรทัศน์หลายรายการ รวมทั้งละครซิทคอมยุค 70 “Fawlty Towers” ถูกระงับการเผยแพร่แบบสตรีมมิง เพราะภาษาที่ใช้ถูกมองว่าน่ารังเกียจในปัจจุบัน
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) คลื่นประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวทั่วประเทศ “ถูกกลุ่มสุดโต่งปล้น” ขณะที่สังคมหวาดหวั่นว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวจะปะทะกับกลุ่มขวาจัด ท่ามกลางการทำลายล้างกระจายไปทั่ว
จอห์นสันยอมรับว่า ความต้องการประท้วงการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องชอบธรรม "แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือห้ามอดีตได้ คนรุ่นก่อนมีมุมมองแตกต่าง เข้าใจความถูกผิดแตกต่าง แต่อนุสาวรีย์เหล่านั้นก็สอนเราให้รู้อดีต และความผิดพลาดทั้งหมด การทำลายพวกเขา จึงเป็นการโกหกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรา และทำลายการศึกษาของคนรุ่นต่อไป"
อนุสาวรีย์ "วินสตัน เชอร์ชิล" บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ที่ถูกพ่นข้อความว่า เขาเป็นพวกเหยียดผิว
สุดสัปดาห์ก่อนรูปปั้นเชอร์ชิลล์ถูกทำลายโดยนักรณรงค์ที่บอกว่า นโยบายเหยียดผิวของเขาทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องล้มตาย ในช่วงที่รัฐเบงกอลของอินเดียเกิดภาวะอดอยากเมื่อปี 2486
จอห์นสัน ผู้เขียนประวัติอดีตนายกฯ เชอร์ชิลล์ ระบุว่า เป็นเรื่อง “ไร้สาระและน่าอับอาย” ที่อนุสาวรีย์เชอร์ชิลล์ตกเป็นเป้าถูกทำลาย เพราะเขาต่อสู้ต้านลัทธิฟาสซิสม์และทรราชย์
“ใช่ บางครั้งเขาแสดงความเห็นที่รับไม่ได้ในวันนี้ แต่เขาก็เป็นวีรบุรุษ ผู้สมควรได้รับการระลึกถึงอย่างเต็มเปี่ยม”
นักกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับแนวร่วมหยุดทรัมป์ สะสมบัญชีรายชื่อรูปปั้นและอนุสาวรีย์กว่า 60 แห่งทั่วอังกฤษ ที่พวกเขาบอกว่า เป็นพวกยกย่องการมีทาสและเหยียดผิว สมควรถูกยกออกไป
โรงพยาบาลกายส์แอนด์เซนต์โทมัสในกรุงลอนดอนประกาศว่า พวกเขาจะย้ายรูปปั้น 2 รูป รวมทั้งโทมัส กาย ผู้บริจาคเงินออกไป เพราะพวกเขาเกี่ยวข้องกับระบบทาส
อนุสาวรีย์ "ดยุคแห่งเวลลิงตัน" ถูกผู้ประท้วงนำกรวยจราจรพ่นสีดำพร้อมสัญลักษณ์การประท้วงมาสวมไว้บนศีรษะ
ทั้งนี้ การที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันไร้อาวุธ เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจผิวขาวจับกุม จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจและประท้วงทั่วโลก จอห์นสันรับรู้ถึงความโกรธของคนผิวดำและชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในอังกฤษ และว่ากระแสแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในอังกฤษกำลังมาแรง แต่หลังจากการประท้วงโดยสันติในกรุงลอนดอนถูกเบี่ยงเบนด้วยการปะทะกัน นายกฯ ระบุว่า การประท้วงกำลังถูกปล้นโดยพวกสุดโต่งที่ตั้งใจใช้ความรุนแรง การทำร้ายตำรวจและใช้ความรุนแรงไม่เลือกหน้านั้น “เหลืออดและน่าขยะแขยง”
จะว่าไปแล้วสังคมอังกฤษแตกแยกกันสูงมากตั้งแต่เรื่องเบร็กซิท ประกอบกับความเหลื่อมล้ำขยายวงหลังจากประเทศต้องเข้าสู่ภาวะรัดเข็มขัดหลายปี ยิ่งตอนนี้ยิ่งกังวลกันมากว่าสังคมจะแตกแยกมากขึ้นไปอีก
ตำรวจประกาศว่าจะ “เอาจริง” กับเหตุรุนแรงและทำลายสถานที่สาธารณะ โชคดีที่การประท้วงบางจุดถูกยกเลิกเพื่อไม่ต้องการปะทะกับกลุ่มขวาจัด และกลุ่มที่ประกาศตัวว่าเป็น “ผู้รักชาติ” ปกป้องอนุสาวรีย์
เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังอารักขาอนุสาวรีย์ "รอเบิร์ต พีล" อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
การประท้วง “ชีวิตคนดำสำคัญ” (BLM : Black Lives Mater!) ที่ไฮด์ปาร์กลอนดอน เดิมทีวางแผนจัดในวันเสาร์ (13 มิ.ย.) ต้องเลื่อนไปจัดวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เพราะกลัวเหตุปะทะ
ความขัดแย้งของคนสองกลุ่มเห็นได้จาก สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รูปปั้นอัลเฟรด เฟกอน กวี นักแสดง และนักเขียนบทละครชาวจาไมกา ในเมืองบริสตอล ถูกสาดด้วยสารมีฤทธิ์กัดกร่อน
ขณะที่กลุ่มบีแอลเอ็มลอนดอน ขึ้นบิลบอร์ดที่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ แสดงรายชื่อเหยื่อกว่า 3,000 ราย ที่ถูกกระทำรุนแรงโดยรัฐและพวกเหยียดผิว รวมทั้งข้อความ “ผมหายใจไม่ออก” คำพูดสุดท้ายของฟลอยด์ ขณะถูกตำรวจใช้เข่ากดคอจนสิ้นลม
ด้วยเหตุนี้ทั้งซาดิก ข่าน และจอห์นสัน จึงพากันเรียกร้องให้ประชาชนอยู่บ้านช่วงสุดสัปดาห์นี้
“กลุ่มขวาสุดโต่งผู้ตั้งใจสร้างความเกลียดชังและแบ่งแยก กำลังวางแผนตอบโต้การประท้วง เท่ากับว่าเสี่ยงเกิดความวุ่นวายสูงมาก” นายกเทศมนตรีลอนดอนกล่าวเตือน