พลาสติกรุก ‘ห่วงโซ่อาหาร’ แอนตาร์กติก
นักวิทยาศาสตร์พบพลาสติกพอลิสไตรีนที่ใช้ทำโฟมชิ้นเล็กๆ ในท้องของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดินแดนทวีปแอนตาร์กติก สร้างความกังวลว่ามลพิษไมโครพลาสติกจากพลาสติกโฟมเหล่านี้กำลังปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของทวีปที่ห่างไกลผู้คนมากที่สุดในโลก
การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในทะเล เป็นเรื่องที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร “ไบโอโลจี เล็ตเตอร์ส” ถือเป็นหลักฐานแรกที่พบการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารในทวีปแอนตาร์กติก
“พลาสติกกำลังเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเคยถือว่าอยู่ห่างไกลจากมนุษย์มากที่สุด สร้างความเสี่ยงต่อระบบนิเวศและชีวมวล (ของแอนตาร์กติก)” นักวิจัยระบุ พร้อมเตือนว่า นี่อาจสร้างแรงกดดันให้กับระบบนิเวศของเขตขั้วโลก ที่เผชิญกับการคุกคามจากภาวะโลกร้อนอยู่แล้วในขณะนี้
นักวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นศึกษาตัวแมลงหางดีดของเขตแอนตาร์กติก ที่สามารถกระโดดได้คล้ายหมัด แต่ไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแมลง พวกมันเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิดที่ทนสภาพอากาศโหดร้ายของเขตแอนตาร์กติกได้ และถือเป็นสปีชีส์หลักในเขตหนาวที่ไม่ถูกปกคลุมโดยน้ำแข็ง แมลงหางดีดกินไลเคนและสาหร่ายขนาดเล็กเป็นหลัก
กลุ่มนักวิจัย นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซียนาของอิตาลีได้ทำการเก็บตัวอย่างสัตว์เหล่านี้จากเศษโฟมพอลีสไตรีนที่พบใต้สาหร่าย มอส และไลเคนบนเกาะคิงจอร์จในหมู่เกาะเชทแลนด์ใต้ของทวีป พื้นที่นี้มีกิจกรรมของมนุษย์อันหลากหลาย ตั้งแต่สถานีวิจัย สนามบิน และสถานีทางทหาร และการท่องเที่ยว เกาะเชทแลนด์ใต้จึงกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนมากที่สุดของแอนตาร์กติกา
เมื่อนักวิจัยตรวจสอบแมลงหางดีดผ่านกล้องอินฟาเรด แล้วเปรียบเทียบกับเศษพอลิสไตรีน ก็ได้พบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกเหล่านี้ในท้องของพวกมัน นักวิจัยเชื่อว่า ขณะที่แมลงหาอาหารกินก็ได้กินชิ้นส่วนพลาสติกเข้าไปด้วย
เอลิซา เบอร์กามี จากมหาวิทยาลัยเซียนา กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามลพิษจากพลาสติกเจอได้ทุกที่ แม้แต่เขตขั้วโลกที่เคยห่างไกลมนุษย์
“แมลงตัวนี้มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารที่ไม่ซับซ้อนของเขนแอนตาร์กติก นัยคือ การกินพลาสติกของแมลงพวกนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้ล่าของพวกมัน ซึ่งก็คือตัวหมัดมอส แล้วก็พื้นดิน” เบอร์กามีอธิบายพร้อมย้ำว่าการปนเปื้อนในดินไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าการปนเปื้อนในทะเล
เธอเรียกร้องให้ทำวิจัยเรื่องพิษจากการสัมผัสพลาสติกของสัตว์เหล่านี้ ที่จะส่งผลต่อโรคระบาด การปนเปื้อน และการดื้อยาปฏิชีวนะให้มากขึ้น
นอกจากนี้นักวิจัยยังกังวลเรื่องสไตโรโฟม เพราะโครงสร้างที่มีรูพรุนเอื้อต่อการเติบโตของมอสจึงดึงดูดแมลง
ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของนักวิจัยจากจีนและสหรัฐ พบมลพิษปรอทจากฝีมือมนุษย์ ลงไปถึงร่องทวีปมาเรียนาของแปซิฟิก หรือก้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุด ปลาและกุ้งที่นี่ล้วนมีปรอท
ทั้งนี้ ปรอททั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ที่พบได้ในสัตว์ทะเลที่อยู่ส่วนบนของห่วงโซ่อาหารทะเล มีความเป็นพิษสูงมาก และเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองแร่ เผาผลาญถ่านหินและปิโตรเลียม อาจทำให้ปรอทไหลลงสู่ทะเลได้