‘สหรัฐ’ ประกาศ ‘หัวเว่ย’ เป็นภัยความมั่นคง เล็งขับออกนอกตลาดลงทุน
“สหรัฐ” ประกาศ “หัวเว่ย” เป็นหนึ่งในสองบริษัทจีนยักษ์ใหญ่ เป็นภัยความมั่นคง เล็งขับออกตลาดลงทุนเทคโนโลยี
คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (เอฟซีซี) ประกาศว่า บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ และบริษัทแซดทีอี (ZTE Corp) เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นมาตรการอีกขั้นที่จะผลักดันให้สองบริษัทดังกล่าวของจีนออกไปจากตลาดสหรัฐ ขณะที่ผู้ประกอบการเครือข่ายขนาดเล็กในชนบทของสหรัฐพึ่งพาอุปกรณ์เครือข่ายราคาถูกจากหัวเว่ยและแซดทีอี
เอฟซีซี เปิดเผยว่า การประกาศดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเครือข่ายขนาดเล็กจำนวนมากในชนบทของสหรัฐ ไม่สามารถใช้เงินช่วยเหลือของรัฐบาลกลางในการซื้อ หรือบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ผลิตโดยหัวเว่ยและแซดทีอี อีกต่อไป
“ทั้งหัวเว่ย และแวดทีอี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพของจีน เรากำลังส่งสารที่ชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอฟซีซีไม่สามารถ และจะไม่ยินยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาหาประโยชน์จากช่องโหว่ในเครือข่ายการสื่อสารของสหรัฐ”
เอจิต ไพ ประธานเอฟซีซี ทวีตว่า สหรัฐเชื่อว่า รัฐบาลจีนอาจใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในการจารกรรมข้อมูล ขณะที่หัวเว่ยปฏิเสธหลายครั้งว่า บริษัทไม่ได้เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคง และยืนยันว่า บริษัทเป็นอิสระจากรัฐบาลจีน
นายเจฟฟรีย์ สตาร์คส์ กรรมาธิการเอฟซีซี ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า ยังคงมีอุปกรณ์ที่ไม่น่าเชื่อถืออยู่ในสหรัฐ และเรียกร้องให้เอฟซีซี ดำเนินโครงการเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านั้น โดยเขาระบุว่า “ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกมาก”
อย่างไรก็ตาม ประมาณการเมื่อปีที่แล้วว่า ผู้ประกอบการเครือข่ายสื่อสารในชนบทของสหรัฐราว 48 แห่งได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐ และใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย หรือ แซดทีอี นอกจากนี้ เอฟซีซียังเปิดเผยว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการเปลี่ยนอุปกรณ์ของแต่ละบริษัทนั้น อาจจะอยู่ในช่วง 40-45 ล้านดอลลาร์