'สถานทูตไทย' ทั่วโลก รุดแจงต่างชาติ ปม 'ลิงเก็บมะพร้าว'
กระทรวงการต่างประเทศ กำชับสถานทูตไทยทั่วโลก รุดแจงต่างชาติ ปม "ลิงเก็บมะพร้าว" ย้ำ ไทยมีเอ็มโอยูปลอดซื้อสินค้า และใช้แรงงานลิง ยืนยัน ดูแลสวัสดิภาพลิง และสอดส่องทารุณกรรมแรงงานสัตว์ใช้ในการค้า
นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับต่างประเทศ กรณี PETA นำเสนอรายงานเรื่องการที่ประเทศไทยใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยให้ทำความเข้าใจกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะต่อผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าไทย รวมทั้ง ให้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ สถานทูตฯ นำข้อมูลการชี้แจงมาจากผลการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการหารือร่วมกับภาครัฐ เอกชน และเอ็นจีโอ ที่เกี่ยวข้อง โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปยืนยันว่าสมาชิกที่เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิไทยไม่มีการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว และ 2 บริษัทที่ถูก PETA พาดพิง (บ.เทพผดุงพรมะพร้าวฯ และ บ. ไทย อะกริฟู้ดส์ฯ) ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายสินค้าไทยในต่างประเทศ เพื่อรับรองว่าปลอดการใช้ลิง รวมทั้งทำเอ็มโอยูกับล้ง และผู้ส่งผลผลิตว่า จะไม่รับซื้อมะพร้าวจากสวนที่ใช้แรงงานลิง โดยได้สุ่มตรวจล้งและสวนมะพร้าวเป็นระยะ
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภค ภาคเอกชนจะเพิ่มระบบตรวจสอบย้อนกลับบนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเช็คแหล่งที่มาวัตถุดิบถึงสวนมะพร้าว
นอกจากนี้ ยังย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญแก่การดูแลสวัสดิภาพของลิง ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น สำหรับการใช้แรงงานลิงในบางพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยนั้น เป็นไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องการความมีประสิทธิภาพและทันสมัย นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะพัฒนาแนวทางการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม รวมทั้งข้อร้องเรียนและพร้อมดำเนินคดีหากพบความผิด
กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานแนวทางการชี้แจงไปยังสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทุกแห่งทั่วโลก ขณะนี้ ได้มีการดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวแล้ว เช่น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวกับสาธารณชนและสื่อท้องถิ่นที่รายงานข่าวเรื่องนี้ พร้อมชี้แจงประเด็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมะพร้าวหรือผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย ทั้งนี้ การละเมิดหรือทารุณกรรมสัตว์เป็นปัญหากรณีบุคคล ซึ่งไทยมีกฎหมายบังคับใช้และลงโทษผู้ละเมิดเป็นรายกรณีอยู่แล้ว
ในส่วนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้ขอให้ทีมประเทศไทยร่วมกันชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับฝ่ายสหราชอาณาจักรในโอกาสต่างๆ และ สคต. ณ กรุงลอนดอนได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ทุกรายด้วยแล้ว รวมทั้งจะได้เข้าพบกับผู้บริหารธุรกิจร้านค้าและบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ ในกรณีรายงานข่าวว่า ห้างสรรพสินค้าในเยอรมนีบางแห่งจะร่วมแบนกะทิจากไทย โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 นั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ร่วมกับ สคต. และจะเดินหน้าชี้แจงภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเยอรมนีต่อไป