‘โรงละครอังกฤษ’ เสี่ยงไปไม่รอดหลังโควิด
ส.ส.อังกฤษเผย ธุรกิจโรงละครชั้นนำของโลกในประเทศอังกฤษกำลังประสบปัญหาโรงว่าง และการปิดตัวของโรงละครหลายเจ้าเพราะผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
คณะกรรมาธิการดิจิทัล วัฒนธรรมสื่อมวลชนและการกีฬาของรัฐสภาอังกฤษ ระบุในรายงานฉบับใหม่ว่า การแสดงของโรงละครกว่า 15,000 รายการต้องยกเลิกในช่วง 12 อาทิตย์แรกของการปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นมานั่นหมายถึงรายได้กว่า 303 ล้านปอนด์หายไปหากรวมรายได้อื่นๆที่จะเข้ามาด้วย เท่ากับว่าหายไป 603 ล้านปอนด์
“เรากำลังได้เห็นภัยคุกคามครั้งใหญ่สุดต่อภูมิทัศน์ด้านวัฒนธรรมของคนรุ่นเรา รัฐบาลล้มเหลวรับมือสถานการณ์ล่าช้า ทำลายอนาคตสถาบันที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และความเป็นอยู่ของคนที่ทำงานให้สถาบันเหล่านี้"กมธ.กล่าว
หลายวันก่อนรัฐบาลประกาศว่าจะให้งบประมาณฉุกเฉิน 1.57 พันล้านปอนด์ แก่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลังเจอแรงกดดันมาหลายสัปดาห์
นโยบายนี้แม้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ว่าเงินอาจช่วยได้ไม่นานโดยเฉพาะหากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงอยู่จนถึงช่วงคริสมาสต์ ที่ปกติเป็นช่วงเวลาทำเงินของงานแสดง หรือลากยาวไปจนถึงปีหน้า
ทั้งนี้ อังกฤษมีโรงละครกว่า 1,100 โรงกว่าครึ่งดำเนินกิจการแบบการกุศล
กองทุนโรงละคร ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในอุตสาหกรรม กล่าวว่า สมาชิกกว่าครึ่งมีเงินทุนสำรองอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน และ1 ใน 3 เศษๆ มีเงินสดสำรองเพียง 1 เดือนเท่านั้น
จูเลียน เบิร์ด ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมโรงละครสหราชอาณาจักรและโรงละครลอนดอน กล่าวว่า 70% ของโรงละครและบริษัทการแสดงเสี่ยงเลิกกิจการก่อนสิ้นปีนี้
โรงละครเชคสเปียร์สโกลบในกรุงลอนดอนเตือนว่าโรงละครทั้งหลายไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ถ้าปราศจากเงินช่วยเหลือและโครงการคุ้มครองการจ้างงานจากรัฐบาล โรงละครท้องถิ่นหลายโรงปิดตัวลงไปแล้ว
กมธ. ระบุด้วยว่าการล้มละลายของธุกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวัฒนธรรมจะส่งผลกระทบยาวนานต่อการเข้าถึงงานศิลปะ วิชาชีพด้านความคิดสร้างสรรค์และจุดยืนของสหราชอาณาจักรในฐานะผู้นำโลกด้านนี้ ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ศิลปินชั้นนำหลายคนของวงการเคยเตือนก่อนหน้านี้ว่า ละครไม่มีคนดู โรงละครต้องปิดตัวไปมากมาย เจ้าหน้าที่โรงละครต้องไปทำงานอิสระ
กมธ.เรียกร้องให้รัฐบาลขยายการจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานในระหว่างว่างงานออกไป จากกำหนดสิ้นสุดในเดือน ต.ค.รวมทั้งสนับสนุนเงินด้านอื่นๆ ให้มากขึ้น เช่น ยกเว้นภาษีและให้คำแนะนำแนวทางในการเปิดกิจการใหม่ที่ดียิ่งขึ้น
ส่วนแนวทางมาตรการเว้นระยะห่างอาจทำให้โรงละครรับคนได้เพียงหนึ่งในสามจากที่เคยรับได้ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้นำเทคโนโลยีและการตรวจหาโรคจากเจ้าหน้าที่สม่ำเสมอเข้ามาช่วยให้โรงละครสามารถรับคนได้ปลอดภัย
กมธ.เน้นย้ำความกังวลแบบเดียวกันเรื่องผลกระทบจากโควิดที่มีต่อเทศกาลดนตรีและการแสดงดนตรีสด ที่ส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการระบาด
กองทุนเพื่อการดนตรีประเมินว่า 93% ของสถานที่แสดงดนตรีสดตามท้องถิ่นปิดตัวลงถาวร เพราะขาดรายได้และไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าสถานที่
สมาคมจัดสถานที่สำหรับการแสดงแห่งชาติกล่าวว่า สถานที่ 23 แห่งที่สมาคมเป็นตัวแทนจะสูญเสียรายได้จากการขายตั๋วเกือบ 235 ล้านปอนด์ในช่วง 6 เดือน
ด้านสมาคมออเคสตราของอังกฤษเตือนเช่นกันว่า วงออเคสตร้าในสหราชอาณาจักรจะสูญเสียรายได้เป็นปีเพราะการยกเลิกทัวร์การแสดงและจำกัดจำนวนผู้เข้าชม