‘บัวแก้ว’ เผยสถานทูตไทยเร่งแจงต่างชาติ ปม 'ลิงเก็บมะพร้าว'
“บัวแก้ว” เผยสถานทูตไทย เร่งให้ข้อเท็จจริงบริษัทนำเข้า หลังพีต้ากล่าวหาไทยใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปพาทูต-สื่อตปท.ลงพื้นที่ดูของจริง
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.63 นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยเร่งสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศในกรณีที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) กล่าวอ้างประเทศไทยใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว โดยให้ข้อเท็จจริงกับผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าไทยในกรณีดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานความคืบหน้าการดำเนินการจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหลายแห่ง เช่น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงบริษัทนำเข้ารายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อาทิ Publix และ Cost Plus World Market
โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศทุกแห่งในสหรัฐฯ ได้ชี้แจงข้อมูลกับผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายในเครือข่ายทั่วประเทศไปพร้อมกัน และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับบริษัทค้าปลีก และบริษัทนำเข้ารายใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท Thai Mas ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกะทิ Aroy-D รายใหญ่ สำหรับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับองค์กร World Animal Protection ในเดนมาร์ก เป็นต้น ซึ่งการเร่งให้ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการในตลาดสำคัญของสินค้าจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยได้รับข้อมูลอีกด้าน และมีความเข้าใจมากขึ้น
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปได้นำผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสื่อมวลชน ลงพื้นที่สังเกตการณ์กระบวนการผลิตกะทิ ตั้งแต่วิธีการเก็บมะพร้าวที่สวนมะพร้าว สถานแปรรูปเบื้องต้น และโรงงานของบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว และของบริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการผลิตกะทิทุกขั้นตอน ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป พร้อมด้วยบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว และบริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ ในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่ถูกกล่าวหา สามารถยืนยันให้เห็นได้ว่าไม่มีการใช้แรงงานลิง
นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะทำให้กับผู้บริโภคเชื่อมั่นคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ด้วยการทำระบบตรวจสอบย้อนกลับบนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเช็คแหล่งที่มาของวัตถุดิบในทุกขั้นตอนจากสวนถึงโต๊ะอาหาร การนำผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และสื่อมวลชนลงพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับสถานเอกอัครราชทูตเหล่านั้นในการรายงานข้อเท็จจริงไปยังเมืองหลวงต่อไป