ระเบิด 'เลบานอน' จุดชนวนเร่งปฏิรูป!

ระเบิด 'เลบานอน' จุดชนวนเร่งปฏิรูป!

เมื่อ "เลบานอน" เคราะห์ซ้ำกรรมซัด จากสารพัดปัญหาที่รุมเร้าประเทศ ก็ยิ่งวิกฤติหนักจากเหตุระเบิดใหญ่กลางกรุง "เบรุต" ทำเอาชาวเลบานอนโกรธแค้นผู้นำ พากันออกมาเดินขบวน จนต้องมียิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้นำโลกประสานเสียงเรียกร้องให้เลบานอนปฏิรูป

เลบานอนเป็นประเทศที่มีปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว ครั้นเกิดเหตุระเบิดใหญ่กลางกรุงเบรุตเมื่อวันก่อน สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ชาวเลบานอนโกรธแค้นผู้นำพากันออกมาเดินขบวนใหญ่ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อกลางดึกวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ขณะที่ผู้นำโลกประสานเสียงเรียกร้องให้เลบานอนปฏิรูป

ความตกตะลึงสุดขีดของชาวเลบานอนกลายเป็นความขึ้งเคียด จากสารแอมโมเนียมไนเตรทปริมาณมหาศาล ที่เก็บสะสมไว้หลายปีในโกดังแห่งหนึ่งของท่าเรือเบรุตระเบิด เมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.)  คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 149 คน บาดเจ็บกว่า 5,000 คน

สำหรับชาวเลบอนนอนหลายคน นี่คือบทพิสูจน์อันน่าเศร้าว่าแกนกลางการบริหารประเทศเน่าเฟะ ไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ตั้งแต่สงครามกลางเมืองระหว่างปี 2518-2533 ที่ฉุดรั้งประชาชนหลายล้านคนเข้าสู่ความยากจนได้

เมื่อเกิดเหตุระเบิดใหญ่ ประชาชนหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล สำนักข่าวแห่งชาติเลบานอนรายงานเมื่อกลางดึกวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมที่กลางกรุงเบรุต ประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

159687353875

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ผู้มาเยือนเลบานอนให้คำมั่นว่าจะนำความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินจากนานาชาติมาให้ และจะจัดประชุมระดมความช่วยเหลือภายในไม่กี่วันนี้ พร้อมรับปาก "เลบานอนไม่เดียวดาย"

มาครง ยังเตือนด้วยว่า เลบานอน ที่ต้องการเงินมาอุ้มจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ และการเมืองปั่นป่วนตั้งแต่ ต.ค.ปีก่อน จะตกต่ำต่อไป ถ้าไม่ปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เริ่มเจรจากับเลบานอนในเดือน พ.ค. แต่ไม่คืบหน้า เตือนว่า จำเป็นต้องผ่าทางตันหารือเรื่องการปฏิรูปครั้งสำคัญให้ได้

ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้เลบานอน ที่พยายามขอเงินทุนจากภายนอกกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และตอนนี้ต้องเผชิญกับความเสียหายจากการระเบิดอีกหลายพันล้านดอลลาร์ “ต้องใช้โครงการสำคัญพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ” หลังเกิดภัยพิบัติเมื่อวันอังคาร

เลบานอน ประเทศเล็กๆ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เคยเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม การมาเยือนของมาครง ถือเป็นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศคนแรกนับตั้งแต่เกิดระเบิด เขาไปดูจุดเกิดเหตุตรงท่าเรือที่มีแต่ซากปรักหักพังดำเป็นตอตะโก หลุมจากแรงระเบิดกว้าง 140 เมตร เต็มไปด้วยน้ำทะเล

ระหว่างที่ "มาครง" ตรวจร้านยาที่ถูกระเบิดพังเสียหายร้านหนึ่ง ฝูงชนภายนอกระบายอารมณ์คั่งแค้นต่อผู้นำเลบานอน พากันร้องตะโกน "ปฏิวัติ ประชาชนต้องการหยุดรัฐบาล"

ต่อมาผู้รอดชีวิตต่างกรูเข้ามารายล้อมประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร้องขอให้เขาช่วยกำจัดผู้นำ 

159687356024

ผู้หญิงคนหนึ่งอ้อนวอนมาครงให้ถอนความช่วยเหลือทางการเงินจากทางการเลบานอน กล่าวหาว่าพวกเขามีแต่ความทุจริตและละโมบ

“ผมรับรองกับคุณว่า ความช่วยเหลือจะไม่ตกไปอยู่ในมือคนโกง” มาครงให้คำมั่น ที่ต่อมาเขาแจ้งกับสถานีโทรทัศน์บีเอฟเอ็มว่า เขาไม่ได้ชี้นำผู้นำเลบานอน ตามที่นักการเมืองหลายคนวิจารณ์ว่า ความเห็นของเขาเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน

นอกเหนือจากโศกนาฏกรรมระเบิด วันพฤหัสบดีเลบานอนยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 255 คน สูงสุดในรอบ 1 วัน เหตุระเบิดกระทบมาตรการล็อกดาวน์ โรงพยาบาลต้องรักษาผู้บาดเจ็บหลายพันราย

จำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีเพิ่มเป็น 149 คน กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังเร่งค้นหาศพใต้ซากปรักหักพัง

บรรยากาศในโซเชียลมีเดียผู้คนเกรี้ยวกราดไม่แพ้กัน ชี้ให้เห็นว่า หายนะภัยครั้งนี้อาจจุดประกายให้เกิดขบวนการต้านรัฐบาลจากประชาชนทุกหมู่เหล่า อย่างที่เคยเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.ปีก่อน แต่ต้องอ่อนแรงลงเพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง และโควิด-19 ระบาด

นายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดิอับ และ ประธานาธิบดีมิเชล อูน รับปากว่าจะนำตัวคนผิดมาลงโทษ อัยการทหารแถลงควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ท่าเรือ 16 คน แต่ประชาชนก็ไม่ไว้ใจสถาบันของรัฐเสียแล้ว มีเพียงไม่กี่คนที่หวังว่าการสอบสวนจะเป็นไปโดยอิสระ

159687361849

แต่ท่ามกลางความโศกเศร้าและหดหู่ การระเบิดช่วยเพิ่มความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างทันทีทันใด เจ้าของธุรกิจรีบเสนอตัวช่วยซ่อมประตู ทาสีกำแพง หรือเปลี่ยนหน้าต่างที่เสียหายให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ชาวเลบานอนในต่างแดน ที่เชื่อกันว่ามีจำนวนเกือบ 3 เท่าของประชากรในประเทศ 5 ล้านคน เร่งระดมทุนและโอนเงินไปให้คนที่รัก

อาสาสมัครในกรุงเบรุตช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่

“เราไม่มีรัฐมาทำเรื่องแบบนี้ เราก็เลยต้องจัดการด้วยมือของเราเอง” ฮูซัม อาบู นาสร์ อาสาสมัครวัย 30 ปีกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี