'ขโมยขยะ' ตุลาการ และการเมืองเรื่องขยะ

'ขโมยขยะ' ตุลาการ และการเมืองเรื่องขยะ

"ขยะ" หรือสิ่งที่ผู้คนทิ้งเนื่องจากไม่ต้องการหรือเห็นว่าไม่มีคุณค่า หากมีใครหยิบเอาขยะนั้นไปมีความผิดหรือไม่? ชวนถอดบทเรียนกรณีหญิงสาวในเยอรมนีที่นำเอาขยะผักหรือของหมดสภาพจากซูเปอร์มาร์เก็ตนำไปกิน แต่กลับถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

หากใครสักคนหนึ่งเอาโยเกิร์ตที่หมดอายุ หรือผักผลไม้ที่ดูสภาพภายนอกแล้วไม่น่าจะรับประทานได้ที่พนักงานของซูเปอร์มาร์เก็ตเอาทิ้งถังขยะแล้วมารับประทานเพื่อยังชีพ คุณผู้อ่านเห็นว่าการกระทำของเขาควรเป็นความผิดหรือไม่

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ในคดีที่ 2BvR1985/19 และ 2BvR1986/19 มีคำตัดสินที่น่าสนใจ โดยยืนยันว่าคำพิพากษาให้นักศึกษาสาว 2 คนกระทำความผิดอาญา ฐานลักทรัพย์ เนื่องจากทั้ง 2 คนเอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่หมดอายุแล้ว รวมทั้งผักผลไม้ที่โดยสภาพไม่สามารถนำวางขายได้อีกต่อไปจากถังเก็บขยะที่พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตเอามาทิ้งไว้เพื่อรอให้บริษัทกำจัดขยะมารับไปนั้น เป็นการตัดสินที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว

นักศึกษาทั้ง 2 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า คำพิพากษานั้นละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพทั่วไป โดยให้เหตุผลว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ในของซึ่งได้ทิ้งลงถังขยะแล้วที่รัฐจะต้องคุ้มครอง อีกทั้งการนำของที่หมดอายุเหล่านั้นมาทิ้งถังขยะย่อมแสดงให้เห็นถึงการสละซึ่งกรรมสิทธิ์ในสิ่งของดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การลงโทษอาญาในกรณีนี้จึงเป็นกรณีที่เกินสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้ หากพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดเป้าหมายของรัฐให้ต้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเพื่อคนในรุ่นถัดไปแล้ว สิ่งอุปโภคบริโภคที่หมดอายุหรืออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภคจึงควรได้รับการจัดการอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนด้วย

ในชั้นพิจารณาของศาลยุติธรรมนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังไม่อาจกล่าวได้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตได้สละแล้วซึ่งกรรมสิทธิ์ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตยังเป็นเจ้าของสิ่งของที่อยู่ในถังขยะ ไม่ใช่สิ่งที่ปราศจากเจ้าของแต่อย่างใด เนื่องจากถังคอนเทนเนอร์ใส่ขยะตั้งอยู่ในบริเวณจุดรับส่งสินค้า และมีการปิดมิดชิด เพื่อรอให้บริษัทกำจัดขยะซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตจ้างมาเพื่อทำลายขยะนั้นมารับไป อีกทั้งได้ความว่าการปิดฝาถังอย่างมิดชิดก็เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นมาเอาของในถังขยะไปซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต และเป็นการป้องกันมิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง ทางปกครอง และทางอาญา หากมีผู้ใดมาเอาสิ่งของเหล่านั้นไปบริโภคแล้วได้รับความเสียหาย

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำตัวอักษรและวัตถุประสงค์ของกฎหมายแล้ว การตีความกฎหมายของศาลข้างต้นนั้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล รวมถึงสอดคล้องกับหลักความเป็นเอกภาพของกฎหมายและหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินคดีตามอำเภอใจ ประกอบกับการวินิจฉัยในประเด็นข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายในแต่ละกรณีนั้นก็เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก้าวล่วงได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากหลักความได้สัดส่วน ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าความผิดฐานลักทรัพย์มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นคุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ ซึ่งคุ้มครองถึงการตัดสินใจทำลายทรัพย์สินของผู้เป็นเจ้าของเองเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองต้องรับผิด และไม่ว่าทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจะมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจอย่างไรก็ย่อมได้รับการคุ้มครอง ประกอบกับกฎหมายยังกำหนดให้ศาลมีดุลยพินิจในการกำหนดโทษที่แตกต่างออกไปได้ตามความร้ายแรงหรือลักษณะเฉพาะของกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ศาลสามารถกำหนดโทษอย่างได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด การกำหนดความผิดอาญาฐานลักทรัพย์แม้ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีมูลค่าใดๆ ในทางเศรษฐกิจจึงไม่อาจถูกตำหนิได้ว่าขัดต่อหลักความได้สัดส่วน

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมข้างต้นจึงไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญยอมรับให้กรรมสิทธิ์เป็นคุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ โดยละเลยที่จะพิจารณามิติในเชิงสังคมของกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะมาตรา 14 วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การใช้กรรมสิทธิ์ต้องเป็นไปเพื่อรับใช้ประโยชน์สุขส่วนรวมด้วยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาว่าในปัจจุบันมีสิ่งอุปโภคบริโภคที่ยังคงใช้ประโยชน์ได้โดนโยนทิ้งลงถังขยะปีละหลายล้านตัน ในขณะที่ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่มีอาหารเพียงพอในการดำรงชีวิต การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงเป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญยังได้เปิดช่องในการแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยเห็นว่าการกำหนดว่าการกระทำอย่างใดจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการจะจัดการปัญหาข้างต้นได้นั้นต้องการการตัดสินใจในทางการเมือง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดต้องเกิดการถกเถียงในสังคมเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เพียงคำถามว่าการขโมยของจากถังขยะควรเป็นความผิดหรือไม่เท่านั้น หากแต่สังคมจะกระจายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้อย่างไรด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าแม้คำพิพากษาข้างต้นจะเป็นเพียงประเด็นเล็กๆ แต่สะท้อนมิติปัญหาในทางสังคมที่สำคัญยิ่ง และแสดงให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของแต่ละองค์กรอย่างชัดเจน ในด้านหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจบทบาทของตนเองในการปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญโดยไม่ก้าวล่วงองค์กรอื่นๆ

ศาลยุติธรรมใช้และตีความกฎหมายภายใต้บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรและวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับถึงอำนาจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของรัฐสภาในฐานะองค์กรตัวแทนประชาชน และการแก้ไขปัญหานี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยกฎหมายที่เป็นอยู่หากแต่ต้องอาศัย “การเมือง” ที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามีส่วนร่วมในการต่อรองเพื่อกำหนดกฎหมายที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

อ้างอิง : Join cases 2 BvR 1985/19 and 2 BvR 1986/19 https://www.bundesverfassungsgericht.de/SharedDocs/Entscheidungen/DE/2020/08/rk20200805_2bvr198519.html