'เจโทร' หนุนบุกตลาด ‘เฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่น’ เรียบง่าย-สไตล์มินิมอล 

'เจโทร' หนุนบุกตลาด ‘เฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่น’ เรียบง่าย-สไตล์มินิมอล 

"เจโทร" หนุนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทยบุกตลาดญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีมูลค่าค้าปลีกสูงถึง 1.2 ล้านล้านเยน ด้านบริษัทโตเกียว เฟอร์นิเจอร์ รีเสิร์ชฯ ชี้ชาวญี่ปุ่นมองสินค้าไทยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดดเด่นด้วยฝีมือประณีต แนะเทรนด์มินิมอลกำลังมา

ชีวิตไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน หันมาสนใจการรักษาสุขภาพและหาหนทางลดความเครียดจากสังคมการทำงานปกติ ด้วยการปรับเข้าสู่วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายสไตล์มินิมอล เป็นการผสมผสานระหว่างธรรมชาติและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นจากสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านภายในบ้าน 

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ได้จัดงานสัมมนา “เฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่นสำหรับใช้ในบ้าน : รสนิยม-การออกแบบให้ตรงความต้องการตลาดญี่ปุ่น” เพื่อชี้ช่องทางโอกาสธุรกิจ เพราะสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยมีคุณภาพตรงตามที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ

คาซูโอะ ยามาเนะ กรรมการผู้จัดการบริษัทโตเกียว เฟอร์นิเจอร์ รีเสิร์ช กล่าวว่า บริษัทได้สำรวจความคิดเห็นผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากไทย ส่วนใหญ่มองว่า งานเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีฝีมือประณีต โดยเฉพาะงานแปรรูปไม้ และงานทาสีที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังโดดเด่นในฝีมือการทำไม้วีเนียร์และการหุ้มโซฟา ไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือผ้า

“เหนือสิ่งอื่นใด ญี่ปุ่นมองว่าลักษณะนิสัยและความสบายใจที่จะทำธุรกิจร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญในระยะยาว ซึ่งไทยเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถไว้วางใจได้ เพราะการเจรจาพูดคุยธุรกิจมีความตรงไปตรงมา” ยามาเนะกล่าว

และระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งอาจส่งผลต่อสินค้าไทยที่นำไปขายในญี่ปุ่นสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความหวังว่า บริษัทของไทยจะพลิกแพลง และพัฒนาดัดแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สมกับราคาที่อาจดูสูง เช่น ใส่ฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายหรือการผสมผสานวัสดุไม้กับวัสดุที่แตกต่างออกไป เช่น เหล็ก ไหม ฝ้าย ผ้าทอมือและฟอกย้อมด้วยสีธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นหลายคนคาดหวังกับบริษัทของไทย ไม่เฉพาะที่เฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นความเชี่ยวชาญในการจับคู่เฟอร์นิเจอร์ที่ดูเข้ากัน อย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่จับเข้าคู่กับของใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งบ้านอาจทำด้วยไม้ หรือเซรามิก

ปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ค้าปลีกในครัวเรือนของญี่ปุ่น มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านเยน ขณะที่สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ที่เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นมียอดรวมมูลค่าอยู่ประมาณ 6 แสนล้านเยน ในจำนวนนี้เป็นเฟอร์นิเจอร์นำเข้าราว 4 แสนล้านเยน และเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในประเทศ 2 แสนล้านเยน โดยปกติราคามักคิดเป็น 2 เท่าของยอดผลิต นี่จึงเป็นจุดดึงดูดน่าสนใจเข้าไปทำการตลาดในญี่ปุ่น นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เน้นสไตล์มินิมอลยังเป็นที่นิยม และต้องการที่ได้ส่งออกไปขายในตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลก

159906097094

ยามาเนะ เล่าว่า ช่องทางการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศญี่ปุ่นมีหลากหลาย แบ่งเป็น 1.การจำหน่ายผ่านหน้าร้านเฟอร์นิเจอร์ คิดเป็น 45% 2.ร้านค้าที่มีเฉพาะสาขาตามแต่ละภูมิภาค 15% 3.ร้านจำหน่ายขนาดเล็กและกลางทั่วประเทศ 15% และร้านค้าขายของใช้ครัวเรือนที่รวบรวมสินค้าไว้ในแห่งเดียว เพื่อมีขึ้นรองรับกับไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่น

อีก 5% หรือพูดกันง่ายๆ เฟอร์นิเจอร์ที่ขายผ่านหน้าร้านมีประมาณ 80% คิดเป็นมูลค่าการค้า 9.6 แสนล้านเยน ส่วนอีก 20%เป็นร้านที่ไม่มีหน้าร้านแต่ใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่มีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน

ในระยะหลังนี้ ชาวญี่ปุ่นเริ่มนำวิถีการดำเนินชีวิตแบบมินิมอลมาปรับใช้กับตัวเอง เนื่องจากความไม่แน่นอนในชีวิตที่มากขึ้น ทั้งจากภัยพิบัติ และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเสมอ และเป็นปัจจัยพิจารณา “ซื้อสินค้าที่ต้องสมกับราคา” บนพื้นฐานความเรียบง่าย และเป็นมิตรกับธรรมชาติ

ยามาเนะ กล่าวในตอนท้ายว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกมองว่ามีความเข้มงวดในคุณภาพสินค้าที่สุดในโลก ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านราคาในตลาดเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นไปอย่างดุเดือด แต่อยากให้มองเป็นความท้าทายที่จะโน้มน้าวให้ผู้ซื้อชาวชาวญี่ปุ่นอยากซื้อสินค้าจากไทย ดังนั้นจึงความจำเป็นจะต้องเสริมจุดเด่นและเสน่ห์เฉพาะตัวของเฟอร์นิเจอร์ไทย เพราะอย่าลืมว่า ชาวญี่ปุ่นมีทัศนคติที่ดีต่อไทย นี่เป็นทุนเดิมที่นำมาใช้ประโยชน์ได้