ถอดบทเรียน 'โควิด-พันธมิตรชานม-แบนมู่หลาน' จากใจจีน
หยาง ซิน อุปทูตจีน เปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจ ถึงประเด็นร้อนๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างจีนกับไทย ไล่ตั้งแต่โควิด ฮ่องกง เรือดำน้ำ พันธมิตรชานม ไปจนถึงกระแสแบนมู่หลาน
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของทุกประเทศบานปลายไปถึงการเมืองและสังคม หรือประเทศที่มีปัญหาการเมืองอยู่แล้วโควิดอาจยิ่งซ้ำเติมให้ประชาชนเรียกร้องต่อรัฐบาลมากขึ้น ด้วยปัญหาที่คล้ายๆ กันแบบนี้ถ้ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ละประเทศอาจถอดบทเรียนระหว่างกันและกันได้
หยาง ซิน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต แวะมาเยี่ยมเยือนกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันก่อน และได้พูดคุยถึงสถานการณ์ที่สองประเทศกำลังเผชิญคล้ายๆ กัน เริ่มจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่รัฐบาลปักกิ่งต้องออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มาใช้ เกิดเป็นคำถามว่า “ระหว่างความมั่นคงของประเทศกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน อะไรควรมาก่อน” เรื่องนี้หยางมองว่า เสถียรภาพในสังคมสำคัญที่สุด โดยคนในสังคมควรคุยกันเอง
“ประชาชนในแต่ละประเทศมีความสามารถหาลู่ทางพัฒนาประเทศของตนเองให้ดีที่สุดได้ ไม่ต้องดูตัวอย่างจากต่างประเทศเพราะภูมิหลัง ประวัติศาสตร์แตกต่างกัน ขอให้นำส่วนดีของประเทศอื่นมาใช้ให้สอดคล้องกับประเทศของตนเอง”
หยางเปรียบเทียบว่า ประเทศไทยยึดมั่นในค่านิยม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ส่วนจีนต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอกมาโดยตลอด แต่ยุคนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดียที่ไม่สามารถปิดกั้นทั้งหมดได้ จีนจึงต้องใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด “เพราะเฟคนิวส์แค่ประโยคสั้นๆ แต่ส่งอิทธิพลต่อสังคมมาก”
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงที่กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก อุปทูตจีนอธิบายว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ประโยคแรกบอกไว้เลยว่า เป็นการรักษา 1 ประเทศ 2 ระบบเอาไว้ ระบบนี้เป็นความคิดของเติ้งเสี่ยวผิงต่อยอดมาจากเหมา เจ๋อตงที่ต้องการนำไปแก้ปัญหาไต้หวัน แต่ได้ใช้กับฮ่องกงเป็นที่แรก
“คนบางคนเน้น 2 ระบบอย่างเดียว ลืม 1 ประเทศ แถมยังจะแยกเป็น 2 ประเทศด้วย ซึ่งจีนยอมไม่ได้ ขณะนี้มีการแทรกแซงจากภายนอก” หยางย้ำ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองในฮ่องกง ที่เป็นศูนย์กลางการเงินโลกอาจทำให้นักลงทุนหวั่นไหวบ้างไม่มากก็น้อยอัครราชทูตที่ปรึกษาจีนยืนยันว่า ทุนยังไม่ไหลออกจากฮ่องกง แม้แต่ทุนตะวันตกก็อยากให้เสถียรภาพกลับคืนมา
จากการเมืองสู่เศรษฐกิจเรื่องปากท้อง น่าสังเกตว่า ปีนี้รัฐบาลปักกิ่งไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่แน่นอนรวมทั้งความปั่นป่วนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนจึงหันมาเน้นการจ้างงานและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแทน
“ถ้าจ้างงานไม่สำเร็จจะส่งผลต่อชีวิตและสังคม” อุปทูตย้ำถึงความสำคัญของนโยบายจ้างงาน และว่ารัฐบาลยังตั้งงบประมาณพิเศษช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นแหล่งจ้างงานกว่า 50%
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนนั้น หยางเล่าว่า ตอนนี้ควบคุมได้แล้ว แม้จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่บ้าง เช่น ที่ต้าเหลียนแต่ก็ใช้เวลาเพียง 11 วันทางการควบคุมได้หมด และใช้เวลา 30 วันผู้ป่วยทุกคนออกจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นักเรียน นักศึกษากลับไปเรียนหนังสือตามปกติ ภาคธุรกิจเน้นการทำธุรกรรมแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันรัฐบาลปักกิ่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น ส่งเสริมให้ธนาคารปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจ ออกพันธบัตรช่วยเหลือภาคก่อสร้างในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคแทนการลงทุนอย่างเดียวเหมือนที่เคยทำในอดีต
การท่องเที่ยวเบื้องต้นเน้นการท่องเที่ยวในประเทศ จีนกำลังฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างมณฑล ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างมณฑลได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งอนุญาตให้บริษัททัวร์จัดท่องเที่ยวข้ามมณฑล ส่วนนักธุรกิจต่างชาติจีนทำข้อตกลงฟาสต์เลนกับทุกประเทศแล้ว ไม่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน แต่เมื่ออยู่ในจีนจะไปในที่สาธารณะไม่ได้ นอกจากสถานที่ในกำหนดการ
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก และนักท่องเที่ยวจีนคือเบอร์ 1 ของไทย เมื่อโควิด-19 ระบาด ทั้งโลกหยุดนิ่ง การท่องเที่ยวไทยหยุดนิ่งเช่นกันส่งผลใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสิ่งที่ธุรกิจไทยจำนวนมากกำลังรอคอย แต่หลายคนก็ยังวิตกกังวลเช่นเดียวกัน เรื่องนี้อุปทูตจีนยืนยันว่า การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่พร้อม แต่ต่อไปจะเน้นที่คุณภาพ
“ตอนนี้คนจีนการศึกษาดีขึ้น รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ถ้าปล่อยให้ทัวร์ศูนย์เหรียญเข้ามา มีแต่จะเสียหายทั้งคู่” หยางให้คำมั่น
และที่เป็นประเด็นร้อนระหว่างไทยกับจีนตอนนี้หนีไม่พ้นเรื่อง “เรือดำน้ำ” ที่รัฐบาลไทยชะลอการจัดซื้อลำที่ 2 และ 3 ออกไป 1 ปี แต่คนไทยมองว่า เรือดำน้ำไม่ใช่สิ่งจำเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แล้วจีนจะมีทางออกให้ประชาชนไทยอย่างไร
"จีนและไทยในฐานะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน จะขยายความร่วมมือในการป้องกันประเทศและมิติต่างๆในเชิงกว้างและเชิงลึก สำหรับความร่วมมือที่ว่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดและจะตลอดไป" อุปทูตกล่าว
เมื่อพูดถึงพันธมิตรชานมระหว่าง “ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย” ที่ล่าสุดรณรงค์ต่อต้านภาพยนตร์ “มู่หลาน” ที่เพิ่งลงโรงในไทยเมื่อไม่กี่วันก่อน เนื่องจากหลิวอี้เฟย นักแสดงอเมริกันเชื้อสายจีน เคยสนับสนุนตำรวจฮ่องกงใช้กำลังกับผู้ประท้วง หยางชี้แจงว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว กลุ่มหัวรุนแรงจำนวนหนึ่งในฮ่องกงทำร้ายระเบียบสังคมอย่างโหดเหี้ยม ยุยงสร้างปรปักษ์ ทุบตีและเผาอย่างโจ๋งครึ่ม ตำรวจฮ่องกงในฐานะผู้พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยของสังคมได้อดทนอดกลั้นต่อความอัปยศอดสูและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมืออาชีพ ได้รับความเคารพรักจากชาวจีนทั้งในและต่างประเทศ
"มู่หลานเป็นหนึ่งในสี่วีรสตรีในตำนานจีนโบราณ เธอมีความจงรักภักดี กตัญญู เทิดทูนศักดิ์ศรีและมีคุณธรรมอันสูงส่ง เธอไปเป็นทหารแทนพ่อและเอาชนะศัตรูที่มารุกรานเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์"มู่หลาน" ที่กำลังฉายอยู่ในขณะนี้เป็นภาพยนตร์อเมริกันที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเป็นตัวละครหลัก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีภาพยนตร์ดีๆจะเข้ามาฉายในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเศรษฐกิจทั้งระบบฟื้นตัวโดยเร็ว" อุปทูตจีนกล่าวทิ้งท้าย