'4 ทูต' แนะ 10 ข้อฟื้นเศรษฐกิจไทยแบบ 'ติดเทอร์โบ'

ทูตออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐ และอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมเขียนบทความแสดงความคิดเห็น เสนอให้ไทยปรับปรุงความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ยกระดับสู่การเป็น 10 ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด

นายอัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย, นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย, นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และนายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ร่วมเขียนบทความแสดงความคิดเห็น เสนอให้ไทยปรับปรุงความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ยกระดับสู่การเป็น 10 ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด

โรคระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเสียหายรุนแรงในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย มหันตภัยด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่นี้มีการควบคุมเป็นอย่างดีส่งผลให้อัตราการติดเชื้อและการระบาดในชุมชนอยู่ในระดับที่ต่ำซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจยิ่ง

พวกเราขอแสดงความยินดีต่อรัฐบาลไทยที่สามารถบรรเทาผลกระทบด้านสาธารณสุขของโรคโควิด-19 ให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี

ทว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญนั้นกลับรุนแรง โดยคาดกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปี 2563 อาจลดลงถึงกว่า 8% โรคระบาดในครั้งนี้ ทำให้เราทุกคนต้องเสาะหาวิธีการทำงานแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม ประเทศใดที่สามารถคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ ก็จะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น ส่วนประเทศใดที่ทำไม่ได้ ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในฐานะเอกอัครราชทูต พวกเราได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหอการค้าของสี่ประเทศในเครือข่าย ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ ‘พันธมิตรหอการค้าต่างประเทศ’ (Foreign Chambers Alliance หรือ FCA) สมาชิกประกอบด้วยบริษัทกว่า 2,000 แห่งในประเทศไทย ตั้งแต่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม จนถึงบรรษัทข้ามชาติ อีกทั้งยังสร้างงานให้กับคนไทยกว่าล้านคน

เมื่อเราสอบถามสมาชิกของ FCA ว่าประเทศไทยสามารถทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจให้ดียิ่งกว่าเดิม คำตอบหนึ่งที่เรามักจะได้ยิน คือ การทำให้การประกอบธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น

160211337436

หลังจากที่ได้รวบรวมข้อคิดเห็นของธุรกิจในเครือข่ายต่าง ๆ แล้ว พวกเราขอนำเสนอมาตรการ 10 ข้อ ที่ประเทศไทยสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เพื่อปรับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ และเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถฟื้นจากโควิด-19 ได้แบบติดเทอร์โบ

ตัวอย่างหนึ่งของมาตรการพิเศษซึ่งรัฐบาลได้นำมาบังคับใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือมาตรการชั่วคราวของกรมศุลกากร ซึ่งอนุญาตให้ผู้นำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Agreement) สามารถส่งเอกสารให้กับศุลกากรไทยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

มาตรการดังกล่าวไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้าและส่งออกเท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุด ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยการทำให้สินค้าต่าง ๆ สามารถเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยได้รวดเร็วขึ้น และด้วยต้นทุนที่ลดลง

สืบเนื่องจากความสำเร็จดังกล่าว ระบบข้างต้นนี้ควรจะถูกนำมาบังคับใช้เป็นมาตรการปกติ

มาตรการนี้เป็นแค่มาตรการขนาดเล็ก ที่ไม่ซับซ้อน และประเทศไทยไม่จำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมใด ๆ นอกเหนือไปจากการนำมาตรการชั่วคราวนี้ มาปรับใช้ในระยะยาว

ผู้ประกอบการธุรกิจยังนำเสนอมาตรการอีกมากมาย ที่ประเทศไทยสามารถนำมาปฏิบัติได้เพื่อลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายทางการค้าและการลงทุนที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของมาตรการดังกล่าว ได้แก่ การย้ายขั้นตอนการดำเนินการภาครัฐสู่ระบบออนไลน์ การกำจัดกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อน การทำให้กระบวนการด้านวีซ่าง่ายขึ้น และการปรับปรุงขั้นตอนในการยื่นคำขอลงทุน

ทั้งนี้ ประเทศไทยไต่อันดับดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (World Bank’s Ease of Doing Business ranking) ได้อย่างรวดเร็ว โดยทะยานขึ้นจากอันดับที่ 46 สู่อันดับที่ 26 และ 21 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หากประเทศไทยนำมาตรการ 10 ข้อ ที่ FCA ได้นำเสนอมาบังคับใช้ เราคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะขึ้นสู่ 10 อันดับแรก ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด ตามดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากจะเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจแล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือมาตรการดังกล่าวจะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทยสู่วิถีการเติบโตแบบยั่งยืนได้ในระยะยาว

โรคโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาครัฐและภาคธุรกิจ ที่จะต้องปรับวิถีการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ประเทศไทยจะสามารถสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” และหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจของไทยเอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยสนับสนุนการแข่งขัน และส่งเสริมความโปร่งใส

มาตรการ 10 ข้อที่กล่าวมา จะช่วยปูรากฐานสำหรับสภาพแวดล้อมข้างต้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายในการประกอบธุรกิจที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้ทัดเทียมกับความสำเร็จในการรับมือด้านสาธารณสุขที่ไทยทำได้มาแล้ว