นักปกป้องสิทธิเด็กชาวโคลอมเบียคว้ารางวัล UNHCR
นักการศึกษาผู้อุทิศตนช่วยเหลือเด็กมากกว่า 20 ปี รับรางวัลด้านมนุษยธรรม “นานเซ็น” จาก UNHCR
มาเยลิน เบร์การ่า เปเรซ (มาเย) ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็น ซึ่งเป็นรางวัลด้านมนุษยธรรมที่จัดขึ้นทุกปีโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เธออุทิศชีวิตคุ้มครองเด็กๆ ด้วยตำแหน่งผู้ประสานงานประจำแถบแคริเบียนของมูลนิธิเรนาเซ (Renacer Foundation) มากกว่า 2 ทศวรรษเพื่อช่วยหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศโคลอมเบียให้ไปถึงเป้าหมายในการขจัดการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชน มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อ 32 ปีก่อน ได้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ที่รอดจากการถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีและผู้ที่รอดจากการถูกคุกคามทางเพศด้านอื่นๆ มากกว่า 22,000 คน
นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า บุคคลอย่างเมยาเป็นตัวแทนจากด้านที่ดีที่สุดของมนุษย์เรา ความกล้าหาญและการเสียสละของเธอได้ช่วยชีวิตและปกป้องกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุดในโลกไว้ อันเป็นการกระทำที่สมควรได้รับการยกย่อง
“เธอคือคุณค่าที่เป็นแก่นแท้ของรางวัลนี้ ความอุตสาหะของเธอได้ช่วยชีวิตเด็กผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนและมอบความหวังในการมีอนาคตที่ดีคืนแก่พวกเขา” นายกรันดีระบุ
รางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ยกย่องการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงานได้รับรางวัลนี้ไปแล้วมากกว่า 82 รางวัลจากการอุทิศตนอย่างไม่ย่อท้อเพื่อผู้ลี้ภัยและการทำงานอย่างหนักเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
สำหรับเมยาเธอใช้เวลากว่า 20 ปี เสี่ยงชีวิตเพื่อเข้าช่วยเหลือทั้งเด็กหญิงและเด็กชายที่ตกเป็นเหยื่อการถูกคุกคามและถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เธอใช้วิธีเดินเข้าค้นหาทุกพื้นที่ของชุมชนชายขอบในตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มขบวนการลักลอบและค้ามนุษย์ดำเนินการอยู่
เมยาได้นำทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิเรนาเซร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันสวัสดิการครอบครัวในโคลอมเบีย (Colombian Family Welfare Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดำเนินงานคุ้มครองเด็กในประเทศแถบอเมริกาใต้
จากการออกมาต่อต้านการล่วงละเมิดต่างๆ ที่ได้พบเห็นมา เมยาเรียกร้องให้ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆ ของประเทศโคลอมเบีย และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการค้ามนุษย์ในประเทศให้ร่วมมือกันทำให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครอง
การเคลื่อนไหวและเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของเมยาได้นำมาซึ่งการออกกฎหมายสำคัญถึง 2 เรื่อง
ในพ.ศ. 2552 ได้แก่ ประมวลกฎหมายมาตรา 1329 ที่ได้กำหนดให้ผู้มีส่วนร่วมและสมรู้ร่วมคิดในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชนต้องโทษจำคุกอย่างน้อยเป็นเวลา 14 ปี และมาตรา 1336 ที่เอาผิดต่อเจ้าของสถานที่ที่เอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่นั้นๆ