'รัฐมนตรีหญิง' หมากการเมือง โจ ไบเดน เยียวยาสหรัฐ
หลังจาก "โจ ไบเดน" จับมือ "คามาลา แฮร์ริส" คว้าคะแนนเสียงจากประชาชนจนได้เสียงคณะผู้เลือกตั้งมากพอได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ก้าวต่อไปที่ทั่วโลกจับตาคือ คณะรัฐมนตรีของเขาที่ว่ากันว่าจะเป็นที่รวมของความหลากหลายและมีผู้หญิงครองตำแหน่งสำคัญ
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่ชาวอเมริกันเลือก "โดนัลด์ ทรัมป์" นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองมาเป็นประธานาธิบดีก็เพราะนโยบายที่โดนใจ กล้าทำอย่างที่นักการเมืองหน้าเก่า (Establishment) ไม่เคยทำมาก่อน
ครั้นได้ทรัมป์เข้ามาแล้วก็ต้องยอมรับว่า ทรัมป์มักทำอะไรที่แหวกขนบทางการเมืองเสมอ เช่น การพูดจาโดยไม่แคร์สื่อ ซึ่งแน่นอนว่า คำพูดเหล่านั้นบ่อยครั้งไปกระทบผู้หญิงและคนผิวสีซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในสังคมหลากหลายอย่างสหรัฐ ดังนั้นเมื่อ โจ ไบเดน ก้าวขึ้นมาจึงถูกคาดหวังอย่างมากว่าจะเป็นผู้เยียวยาความปั่นป่วนที่ทรัมป์ทิ้งไว้ หนึ่งในนั้นคือการยอมรับผู้หญิงและคนผิวสีให้มากกว่าที่ทรัมป์ทำ ซึ่งไบเดนก็พยายามเติมเต็มภารกิจนี้ตั้งแต่การเลือกคู่ชิงรองประธานาธิบดี เขารับปากว่าจะเลือกผู้หญิง แต่เป็นที่รับรู้กันว่าไบเดนไม่ใช่แค่ต้องเลือกผู้หญิงเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้หญิงผิวสีด้วย
ตัวเก็งมีตั้งแต่ ซูซาน ไรซ์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ พันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภารัฐอิลลินอยส์ นักการเมืองอเมริกันเชื้อสายไทย เอลิซาเบธ วอร์เรน ส.ว. รัฐแมสซาชูเซตส์ และคามาลา แฮร์ริส ส.ว.รัฐแคลิฟอร์เนีย ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-จาเมกา
- คามาลา แฮร์ริส เจ้าของตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก รองประธานาธิบดีผิวสีคนแรก และรองประธานาธิบดีเชื้อสายเอเชียคนแรกของสหรัฐ -
ตอนนั้นกองเชียร์ชาวไทยคึกคักกันมาก แต่แล้วไบเดนก็เลือกแฮร์ริส เพราะสำหรับสังคมอเมริกันคนผิวขาวกับคนผิวสีคือของคู่กัน ส่วนคนเอเชียนั้นคือผู้มาทีหลัง โอกาสที่พันโทหญิงลัดดาจะได้เป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีออกจะยากอยู่สักหน่อย
แต่ความหวังยังไม่สิ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ย. มีข่าวให้ลุ้นไบเดนบอกว่า เริ่มรวบรวมรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของเขาแล้ว พร้อมให้คำมั่นว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของเขาจะสะท้อนถึงความหลากหลายของคนเชื้อชาติต่างๆ ในสหรัฐ และเขาจะประกาศรายชื่อรัฐมนตรีในกระทรวงที่มีความสำคัญในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 13 พ.ย. จับตากระทรวงสำคัญและว่าที่รัฐมนตรี น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ตัวเก็งเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีคนผิวสีรวมอยู่ด้วย
ตำแหน่งที่จับตา เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศ ในสมัยทรัมป์ นักการทูตอาชีพลาออกไปมากมายเพราะถูกตั้งคำถามว่าไม่ภักดีต่อทรัมป์ การแต่งตั้งทูตใช้เหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก ถึงยุคไบเดนตำแหน่ง รมต.ต่างประเทศจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนนโยบายและฟื้นฟูความเป็นกลางทางการเมืองของนักการทูตกลับคืนมา
- ซูซาน ไรซ์ อดีตทูตสหประชาชาติของสหรัฐ -
ซูซาน ไรซ์ ตัวเก็งชิงรองประธานาธิบดี อดีตทูตสหประชาชาติของสหรัฐ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในสมัยบารัก โอบามา และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐสมัยบิล คลินตัน ถูกคาดหมายว่า มีโอกาสนั่งในตำแหน่งสำคัญนี้ แต่เธอต้องเจอกับคู่แข่งอย่างแอนโธนี บลินเคน, คริส คูนส์ และ คริส เมอร์ฟีย์ ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับไบเดน ด้านการต่างประเทศ
อีกตำแหน่งที่ถูกจับตาไม่แพ้กันคือ รัฐมนตรีกลาโหม ผู้หญิงที่ได้รับการคาดหมายมี 2 คน คือพันโทหญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ และมิเชล ฟลาวนอย
- พันโทหญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ นักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายไทย หนึ่งในตัวเต็ง รมว.กลาโหมยุคไบเดน -
พันโทหญิงลัดดาสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐในปี 2535 และเลือกที่จะเป็นนักบินขับเฮลิคอปเตอร์ และระหว่างเข้าร่วมรบในสงครามอิรักเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2547 เฮลิคอปเตอร์ UH-60 แบล็คฮอว์คที่เธอเป็นนักบินผู้ช่วยถูกยิงตก ทำให้เธอต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง ส่วนแขนขวาพิการ และแพทย์ได้ทำการต่อแขนข้างขวาให้กับเธอ แต่เธอต้องนั่งบนรถเข็น และใช้ขาเทียมนับตั้งแต่นั้นมา
- มิเชล ฟลาวนอย คู่แข่งของพันโทหญิง ลัดดา ชิงตำแหน่ง รมว.กลาโหม -
ขณะที่ฟลาวนอย เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมสหรัฐในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบิล คลินตัน และบารัก โอบามา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ทีมงานหาเสียงเลือกตั้งของไบเดนในประเด็นที่เกี่ยวกับกิจการป้องกันประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งร่วมกับแอนโทนี บลินเคน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของไบเดน
ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกเธอจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของสหรัฐ แต่ดูแล้วงานนี้สหรัฐน่าจะล้าหลังไทย เพราะเราเคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกควบคู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกมาแล้ว เธอชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”