หนังเล่าโลก: Crazy Rich Asians สิงคโปร์รีเทิร์น
Crazy Rich Asians สิงคโปร์รีเทิร์นเพราะภาพยนต์เรื่องนี้ขายการท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้อย่างงดงาม
หลายวันก่อนผู้เขียนอ่านข่าวเกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์ จนรู้สึกอยากไปเที่ยวขึ้นมาตะหงิดๆ แต่จะทำยังไงในยุคโควิด-19 ระบาด นอกจากเปิดภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asians ดูให้พอหายคิดถึง
Crazy Rich Asians ผลงานการกำกับของจอน เอ็ม ชู ออกฉายเมื่อปี 2561 บอกเล่าเรื่องราวของ ราเชล ชู อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ตามนิค ยัง แฟนหนุ่มชาวสิงคโปร์กลับมาบ้านเพื่อร่วมงานแต่งงานเพื่อนสนิทของฝ่ายชาย พร้อมถือโอกาสรู้จักกับครอบครัวแฟนไปในตัว แต่เส้นทางไม่ได้ราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อราเชลเองก็เพิ่งทราบว่า นิค คือลูกชายคนเดียวของครอบครัวมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของสิงคโปร์ และแม่ของนิคไม่ได้ยินดีต้อนรับเธอเป็นลูกสะใภ้แม้ว่าจะมีเชื้อสายจีนเหมือนกัน แต่จิีนอเมริกันย่อมแตกต่างจากจีนสิงคโปร์ในทัศนะของแม่นิค
ตอนดูรอบแรกผู้เขียนมัวแต่ลุ้นกับความรักของราเชลและนิคว่าจะฟันฝ่าอุปสรรคแบบแม่ผัว-ลูกสะใภ้ไปได้หรือไม่ จนลืมสังเกตรายละเอียดอื่นๆ มารอบนี้เพิ่งสังเกตว่า Crazy Rich Asians ขายการท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้อย่างงดงาม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังไม่ว่าจะเป็นสิงโตเมอร์ไลอ้อน การ์เด้นบายเดอะเบย์ โรงแรมมารีนาเบย์แซนด์ และอื่นๆ รวมถึงบรรยากาศในประเทศที่เป็นเมืองทันสมัยสะอาดสะอ้าน สตรีทฟู้ดก็น่ารับประทาน เป็นอาหารหลากหลายวัฒนธรรมทั้งมาเลย์ จีน อินเดีย ดูแล้วใครจะอดใจไม่ไปเที่ยวได้
แต่ทั้งหมดนี้ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงเมื่อโควิด-19 มาเยือน ไม่ใช่แค่สิงคโปร์ประเทศเดียวแต่โดนเล่นงานกันทั้งโลกจนต้องปิดประเทศสกัดการแพร่ระบาด สิงคโปร์ใช้วิธีล็อกดาวน์บางส่วนเมื่อเดือน เม.ย. ที่เรียกว่า “เซอร์กิตเบรกเกอร์” แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายเป็นเฟสๆ กลางเดือน มิ.ย.เริ่มเปิดเฟส 2 อนุญาตให้ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ให้คนรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ได้ ล่าสุดสิงคโปร์อาจเริ่มเปิดธุรกิจในเฟส 3 ได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่ต้องดูหลายๆ ปัจจัย เช่น ชาวสิงคโปร์ยังรักษาระยะห่างกันอยู่หรือไม่ และขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น
สิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่คือสิงคโปร์ตกลงทำเที่ยวบินทราแวลบับเบิลกับฮ่องกง เริ่มต้นเที่ยวแรกในวันที่ 22 พ.ย.นี้ นักเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว โดยมีหลักปฏิบัติว่า ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ผลเป็นลบภายในเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการเดินทาง ไม่ต้องใช้กำหนดการตายตัวหรือมีผู้อุปถัมภ์ แต่นักเดินทางจะต้องไม่มีประวัติไปที่อื่นนอกจากฮ่องกงและสิงคโปร์ในรอบ 14 วันก่อนเดินทาง และเมื่อมาถึงก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับโควิด-19 ของปลายทาง เช่น ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันติดตามโรคและสวมหน้ากาก ใครก็ตามที่่ติดโควิด-19 จะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของตนเอง
จะว่าไปแล้วสิงคโปร์ค่อนข้างเป็น “เสือปืนไว” ในการเปิดรับนักเดินทางจากต่างแดน เริ่มตั้งแต่ทำข้อตกลง “ฟาสต์เลน” ฉบับแรกกับจีนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. อนุญาตให้เดินทางติดต่อราชการหรือธุรกิจระหว่างสิงคโปร์กับเซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง กวางตุ้ง เจียงซู และเจ้อเจียง แต่เป็นการเดินทางในนามของหน่วยงานราชการหรือบริษัท ถัดมาในวันที่ 4 ก.ย. สิงคโปร์เริ่มข้อตกลงแบบเดียวกันนี้กับเกาหลีใต้ ตามด้วยข้อตกลง “กรีนเลน” กับอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไน แต่การเดินทางยังมีข้อจำกัด เช่น ต้องกักตัวเองในที่พักระหว่างรอผลตรวจโควิดเมื่อเดินทางมาถึง การเดินทางต้องตามกำหนดการเป๊ะๆ ไปไหนมาไหนกับรถสาธารณะไม่ได้ การทำเที่ยวบินทราเวลบับเบิลกับฮ่องกงจึงถือว่า “ล้ำ” สุดๆ ในยุคโควิด
ความฮอตนี้เห็นได้จากเมื่อกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ประกาศว่าจะมีเที่ยวบินแรกในวันที่ 22 พ.ย. ตั๋วเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์และคาเธ่ย์แปซิฟิกก็ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
แน่นอนว่าปรากฏการณ์แบบนี้สร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว คีธ ตัน ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (เอสทีบี) กล่าวว่า การจะทำแบบนี้ได้ทั้งสองฝ่ายที่เจรจากันจะต้องเชื่อใจกันอย่างเต็มที่ มั่นใจอย่างเต็มที่ในความสามารถควบคุมโรค
“การได้ไปเที่ยว เยี่ยมเพื่อน เยี่ยมญาติระหว่างกันนั้นน่าสนใจมาก เหนือสิ่งอื่นใดเป็นเพราะเราต่างเชื่อมั่นอย่างยิ่งในการควบคุมโรคของกันและกัน จึงรู้สึกปลอดภัยในการเดินทางไปมาหาสู่กัน” ประธานเอสทีบีย้ำ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า วันหนึ่งสิงคโปร์กับไทยจะวางใจกันแล้วทำแอร์ทราเวลบับเบิลแบบนี้บ้าง เมื่อใดที่คิดถึงก็สามารถเดินทางไปหากันได้ทันที ไม่ต้องอาศัยการดูหนังอีกต่อไป