‘ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ’ ความท้าทายยังไม่สิ้น
‘ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ’ ความท้าทายยังไม่สิ้น ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย “WE BELONG: Global Faces of Statelessness”
เมื่อพูดถึง “ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ” คนส่วนใหญ่จากจำนวนประชากรโลกทั้งหมดราว 7.8 พันล้านคนย่อมยากจะเข้าใจ แต่ในเมื่อยังมีคนอีกกว่าล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในสภาพดังกล่าว เรื่องราวของพวกเขาบางคนจึงปรากฏอยู่ในนิทรรศการภาพถ่าย “WE BELONG: Global Faces of Statelessness” ย้ำเตือนถึงความสำเร็จและความท้าทายของความร่วมมือลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมมือกับรัฐบาลทั่วโลก
ชะตากรรมของพวกเขา เช่น ยานนิก เกิดในสาธารณรัฐแคเมอรูน เมื่อ พ.ศ.2522 โดยมีพ่อเป็นชาวเบลเยียม เขาย้ายไปอยู่ปารีสอย่างถาวรตั้งแต่ พ.ศ.2546 แต่ใน พ.ศ.2554 พี่ชายของเขาได้รับแจ้งจากสถานทูตเบลเยียมว่า จากความผิดพลาดด้านเอกสาร ยานนิก “ไม่มีสิทธิถือสัญชาติเบลเยียมอีกต่อไป” ระหว่างนั้นก็ถูกแคเมอรูนถอนสัญชาติด้วย กลายเป็นว่าบุคคลที่เคยถือ 2 สัญชาติกลับต้องกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือราฟาเอล เด็กกำพร้าชาวฟิลิปปินส์ วัย 18 ปี ผู้ใฝ่ฝันจะเข้าแข่งขันว่ายน้ำระดับภูมิภาคเพื่อหาเงินมาเป็นทุนการศึกษา แต่เขาไปไม่ได้เพราะไม่มีสูติบัตร
นอกเหนือจากการไร้รัฐไร้สัญชาติของปัจเจก ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ ใกล้บ้านเราที่สุดหนีไม่พ้นชาวโรฮิงญา แม้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วอายุคน แต่ยังเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติภายหลังการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใน พ.ศ.2525 ปัญหานี้ดูคล้ายๆ กับที่ซากุย วัย 56 ปีกำลังประสบ ครอบครัวของเขาไม่มีสัญชาติมาหลายชั่วอายุคน สืบเชื้อสายจากชาวอินเดียอพยพในช่วงศตวรรษที่ 19 กลุ่มชาติพันธุ์ครณะของเขาไม่ได้รับสัญชาติมาลากาซี ตอนที่มาดากัสการ์ได้เอกราชจากฝรั่งเศสใน พ.ศ.2503
เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายใน 10 ปี UNHCR จึงจัดโครงการ#IBelong ขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.2557 โดยการระบุตัวตนและให้ความคุ้มครองบุคคลไร้รัฐไร้สัญชติ แก้ไขสถานการณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติขึ้นได้อีก ปีนี้โครงการดำเนินมาเป็นปีที่ 6 แล้ว
สำหรับประเทศไทยการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและการทะเบียนราษฎร รวมทั้งการดำเนินตามยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ได้สัญชาติไทยไปแล้วกว่า 100,000 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2551
“ความก้าวหน้าของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ถูกนำเสนอในนิทรรศการนี้ เป็นการเน้นย้ำว่าการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถทำได้ แต่ด้วยจำนวนของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังคงมีกว่าล้านคนทั่วโลก เราต้องเร่งจัดการและขยายการทำงานออกไปให้มากขึ้น” จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าว
หากมองเฉพาะประเทศไทยแม้การทำงานจะก้าวหน้าไปมากแต่ยังมีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศอีกกว่า 400,000 คน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การมีสัญชาติไม่ได้หมายความแค่บุคคลมีเอกสารรับรองตัวตน มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้เรียนหนังสือ ได้ทำงาน เปิดบัญชีธนาคารได้ ไปไหนมาไหนได้ แต่ยังหมายรวมถึงการมีสิทธิทางการเมืองในฐานะพลเมืองของรัฐ มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินอนาคตของตนเอง เท่ากับว่าบุคคลได้รับการพิจารณาว่าเป็นคนของรัฐนั้น ไม่ถูกกีดกันหรือแบ่งแยกจากรัฐที่พวกเขาอาศัยอยู่อีกต่อไป
เรื่องราวของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติยังมีให้ติดตามอีกมากในนิทรรศการภาพถ่าย “WE BELONG: Global Faces of Statelessness” เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 24-29 พ.ย. ณ ผนังโค้งชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร