จับตา29ธ.ค.นี้สหรัฐเชือดไทยเก็บภาษีเอดียางรถยนต์นำเข้า

จับตา29ธ.ค.นี้สหรัฐเชือดไทยเก็บภาษีเอดียางรถยนต์นำเข้า

จับตา29ธ.ค.นี้สหรัฐเชือดไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต่หวันเก็บภาษีเอดียางรถยนต์นำเข้า

สื่อรายงานว่า สหรัฐกำลังเดินหน้ากระบวนการพิจารณาจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพื่อพิจารณาว่ามีการจำหน่ายยางดังกล่าวในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมหรือไม่ หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนจากสหภาพแรงงานยูไนเต็ด สตีลเวิร์คเกอร์ (ยูเอสดับเบิลยู) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตยางรถยนต์ของสหรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐจะประกาศผลการพิจารณาจัดเก็บภาษีเอดีต่อทั้ง 4 ประเทศในวันที่ 29 ธ.ค.

สหรัฐนำเข้ายางรถยนต์ราว 4 พันล้านดอลลาร์จากทั้ง 4 ประเทศ โดยนำเข้าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์จากไทยในปีที่แล้ว และ 1.2 พันล้านดอลลาร์จากเกาหลีใต้

ยูเอสดับเบิลยู ระบุว่า การนำเข้ายางรถยนต์จากทั้ง 4 ประเทศได้พุ่งขึ้นเกือบ 20% นับตั้งแต่ปี 2560 สู่ระดับ 85.3 ล้านเส้น ซึ่งหากการสอบสวนพบว่าทั้ง 4 ประเทศมีการทุ่มยางรถยนต์ราคาถูกในตลาดสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐก็จะเรียกเก็บภาษีเอดีต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศดังกล่าว โดยในกรณีของไทย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 217%

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (ซีวีดี) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากเวียดนาม โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 6.23-10.08% ซึ่งการดำเนินการของสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นครั้งแรกเพื่อตอบโต้รัฐบาลต่างชาติที่จงใจลดค่าเงินเพื่อเอื้อต่อการส่งออกสินค้า โดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามจงใจลดค่าเงินดองให้อ่อนค่าเกินจริงในปีที่แล้วเพื่อหวังผลทางการค้า

ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงการคลังระบุว่า เวียดนามได้จงใจลดค่าเงินดองราว 4.7% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำการแทรกแซงค่าเงินดอง ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศสุทธิคิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยดำเนินการผ่านทางธนาคารกลางเวียดนาม

รายงานดังกล่าวเป็นรายงานที่กระทรวงการคลังสหรัฐจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์สำหรับการสอบสวนกรณีการนำเข้ายางรถยนต์จากเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังสรุปว่าเวียดนามได้จำหน่ายยางรถยนต์ในสหรัฐในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเวียดนามเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา