ดู 'กระเช้า' ทั่วโลกแล้ว ดู 'ภูกระดึง'
"ภูกระดึง" แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ที่ยังคงรอโปรเจคกระเช้าขึ้นไปบนยอดภู ที่หลายคนหวังว่าเมื่อมีแล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ แม้วันนี้จะยังไม่มี แต่จะพาไปส่องการสร้างกระเช้าของแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกกันก่อนว่าทำกันอย่างไรบ้าง?
ผมได้มีโอกาสไปดูแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั่วโลก เขาทำกระเช้าขึ้นไปบนยอดภูหรือยอดดอยกันทั้งนั้น แต่ของไทยที่ภูกระดึงกลับทำไม่ได้ ทั้งที่ชาวบ้านถึง 97% ต้องการให้สร้าง มาดูกระเช้าทั่วโลกที่เขาสร้างกันดีกว่า
กระเช้า Emirates Air Line ข้ามแม่น้ำเทมส์ เป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ของกรุงลอนดอน เปิดตัวในวันที่ 28 มิ.ย.2555 ดำเนินการโดยทางการขนส่งลอนดอน แต่ดูเหมือนจะใช้สำหรับนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ แต่ก็มีคนทำงานท้องถิ่นใช้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเทมส์เหมือนกัน ด้วยความสูงประมาณ 100 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงลอนดอนได้หลายมุมมอง ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ระยะเวลาในการเดินทางคือ 10 นาที
งบประมาณในการก่อสร้างคือ 60 ล้านปอนด์หรือ (3,000 ล้านบาท) โดยการนี้ 60% ของงบประมาณมาจากการสนับสนุนของสายการบิน Emirates ทำให้ต้นทุนลดลง โดยสายการบินนี้ได้สิทธิในการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการบินของสายการบินนี้เป็นเวลา 10 ปี สำหรับความยาวของกระเช้าไฟฟ้านี้มีระยะทางประมาณ 1.1 กิโลเมตร มีเสาสูงปักเพื่อการทำกระเช้า 3 เสา สามารถมีผู้โดยสารประมาณ 2,500 คนต่อชั่วโมง รถเข็นคนพิการและจักรยานก็สามารถขึ้นกระเช้าที่จุคนได้ 8 คนได้ สำหรับค่าโดยสารก็ค่อนข้างหลากหลาย เช่นประมาณ 4.4 ปอนด์ แต่หากเดินทางบ่อยๆ ก็มีส่วนลด
กระเช้าเขาโมอิวา (Mt.Moiwa) ใกล้นครซัปโปโร บนเกาะฮอกไกโดของประเทศญี่ปุ่น สูงเพียง 531 เมตร มีการสร้างกระเช้าขึ้นเขานี้พร้อมสวนสนุกและรีสอร์ตสำหรับเล่นสกีตั้งแต่ปี 2501 (59 ปีมาแล้ว) ตัวกระเช้าจุคนได้มากกว่า 30 คน ที่สำคัญคือไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็คล้ายกับโครงการก่อสร้างภูกระดึงที่ประชาชนชาวภูกระดึงส่วนใหญ่ถึง 97% ต้องการให้สร้าง (ผมสำรวจเอง) ถ้าได้สร้าง คนพิการ เด็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ หรือนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อย จะได้ขึ้นไปชื่นชมธรรมชาติบ้าง ส่วนใครจะเดินขึ้นก็ไม่หวงก้างเช่นที่ภูเขาโมอิวานี้ แต่รัฐบาลไทยกลับเกรงใจเอ็นจีโอมากกว่าประชาชน จึงไม่ได้สร้างสักที
กระเช้าเพอร์กามอน เพอร์กามอนเป็นเมืองโบราณตั้งอยู่บนยอดเขาในบริเวณอนาโตเลีย เขต จ.อิซเมียร์ (Izmir) ห่างจากทะเลอีเจียนราว 30 กิโลเมตร มีสถานที่ที่สำคัญคือวิหารอะโครโปลิส (Acropolis) ซึ่งในสมัยนั้นมักเลือกสร้างสถานที่สำคัญอย่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ วิหารบูชาเทพเจ้า พระราชวังและพื้นที่ที่ใช้งานสำหรับกษัตริย์และชนชั้นสูงไว้บนที่สูง เป็นเนินเขา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน รายล้อมด้วยป้อมปราการ เพื่อป้องกันข้าศึกและมีประชาชนทั่วไปจะอยู่ส่วนด้านล่าง ทางการตุรกีก็ได้สร้างกระเช้านี้เพื่อการท่องเที่ยวโดยตรง
กระเช้าบานาฮิลส์ ใกล้นครดานัง ได้รับการบันทึกสถิติโลกโดยกินเนสส์เอาไว้ถึง 4 หมวดความเป็นที่สุด คือเป็นกระเช้าไฟฟ้าประเภทไม่มีการหยุดแวะ (แบบเคเบิลเดี่ยว) ระยะทางยาวที่สุดในโลก 5,801 เมตร เป็นกระเช้าไฟฟ้าประเภทไม่มีการหยุดแวะ (แบบเคเบิลเดี่ยว) ระยะจากฐานสู่ยอดสูงที่สุดในโลก 1,368 เมตร เป็นกระเช้าไฟฟ้าที่สายเคเบิลยาวที่สุดในโลก 11,587 เมตร และเป็นกระเช้าไฟฟ้าที่สายเคเบิลหนักที่สุดในโลก 141.24 ตัน
นอกจากนั้น บานาฮิลส์ยังเป็นสถานีกระเช้าไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแหล่งสันทนาการ สวนสนุก รวมทั้งห้องนิทรรศการที่รวบรวมประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมเอาไว้อีกด้วย ค่าก่อสร้างเคเบิลคาร์ช่วงแรกมีมูลค่า 17.2 ล้านดอลลาร์ ส่วนช่วงที่สร้างต่อเพิ่มไปถึงยอดเขามีมูลค่า 5.7 ล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่าต้นทุนค่าก่อสร้างไม่แพงเลยเพียงราว 720 ล้านบาทเท่านั้น
กระเช้ามอนเตเนโกร เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นกระเช้าท่องเที่ยวที่ยาวสุดในโลก โดยโครงการนี้ชื่อว่า "Kotor-Cetinju Cable Car” เชื่อมระหว่างนคร Kotor ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อ ติดทะเลกับจังหวัด Cetinju มีความยาวถึง 14.8 กิโลเมตร ปักเสา 74 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 200 เมตร การสร้างกระเช้านี้จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมหาศาล ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากกันมากขึ้น
ผมไปสำรวจพบที่ภูกระดึงว่าเขาไม่ได้รับการพัฒนามา 30 ปีแล้ว บางร้านคิดจะย้ายออก เพราะการท่องเที่ยวมีแต่ถดถอย ประเด็นสำคัญก็คือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้สูง ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR : internal rate of return) น่าจะเป็นอยู่ระหว่าง 8.8-11.7% ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุนในเงื่อนไขของประเทศนี้
กระเช้าลังกาวี ลังกาวีซึ่งก็ไม่มีอะไรสวยงามเป็นพิเศษนอกจากมีเขาอยู่แทบเต็มเกาะ แต่เขาพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แทนที่จะปีนขึ้นเขาไปเที่ยว ก็สร้างรถกระเช้าลอยฟ้า กระเช้าลังกาวีใช้เวลาก่อสร้าง 16 เดือนเท่านั้น และเสร็จเมื่อปี 2545 หรือ 19 ปีมาแล้ว กระเช้าลังกาวีมีระยะทาง 2.2 กิโลเมตร มี 35 กระเช้า แต่ละกระเช้าจุได้ 6 คน ทั้งนี้ ช่วงห่างของกระเช้าที่ยาวที่สุดยาวถึง 920 เมตรหรือเกือบ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางถึงยอดประมาณ 15 นาที เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 5 เมตรต่อวินาที แต่ละชั่วโมงให้คนขึ้นได้ 700 คน ความสูงของกระเช้าห่างจากพื้นดินประมาณ 38 เมตร โดยไม่รบกวนสัตว์ มีค่าโดยสารเพียง 300 บาท (35 ริงกิต)
ท่านทราบหรือไม่ ถ้าจ้างคนหามคนแก่ขึ้นภูกระดึงจะใช้เงินค่าจ้างถึง 4,000-5,000 บาท ต่างกันมหาศาลเพียงใด กระเช้าและการท่องเที่ยวลังกาวียังถือเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างมลภาวะต่ำ (Low carbon neutral tourism หรือ carbon neutral tourism) ที่กำลังรณรงค์กันในยุโรปในขณะนี้
การสร้างกระเช้าไม่ได้ทำลายป่าเลย ไม่ต้องตัดถนนขึ้นไป ถ้ามีกระเช้าขึ้นภูกระดึงสำหรับผู้สูงวัย หญิงมีครรภ์ คนพิการ ให้ได้มีโอกาสไปชื่นชมธรรมชาติข้างบนบ้าง ก็คงจะดีเป็นอย่างมาก ทำกระเช้าไปให้ทั่วทุกบริเวณจุดท่องเที่ยวของภูกระดึงไปเลย ไม่ต้องห่วงลูกหาบ เพราะเขาจะได้มีงานอื่นทำอีกมาก แม้แต่ขยะก็ยังสามารถเก็บได้ง่ายด้วยกระเช้า มีใครป่วยไข้ ก็ใช้กระเช้าลำเลียงได้ทันท่วงที แถมยังมีเงินช่วยพัฒนาป่าและชุมชนได้อีก
ท่านทราบไหม ประชาชนชาวภูกระดึงต้องการให้มีกระเช้าถึง 97% ส่วนใครยังอยากปีนก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ยังสามารถทำได้เช่นกัน
เห็นไหมครับ แหล่งท่องเที่ยวแทบทั่วโลกใช้กระเช้ากันทั้งนั้น สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเถอะ