ไลฟ์สไตล์ยุคโควิดหนุนต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือ
การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าของบรรดาบริษัทรับส่งสินค้าทางเรือจากเอเชียทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกพากันสั่งซื้อสินค้าที่สนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่ที่เน้นการทำงานที่บ้าน
"ในเดือนธ.ค.ปี2563 เราได้เห็นคำสั่งซื้อสินค้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงานและของเล่นมากกว่าขีดความสามารถด้านการขนส่งของเรา"เจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าว
อัตราค่าธรรมเนียมในการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปสหรัฐและยุโรปลดลงตั้งแต่เดือนพ.ย.เนื่องจากการขนส่งสินค้าในช่วงปลายปีที่เป็นฤดูกาลช็อปปิงไม่คึกคักเหมือนทุกปีแต่ความต้องการสินค้าหลายรายการในเดือนม.ค.ยังคงแข็งแกร่งและไม่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวลง
ข้อมูลจาก Shanghai Shipping Exchange ระบุว่า อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด40ฟุตจากนครเซี่ยงไฮ้ไปสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 150% เป็น 4,019 ดอลลาร์ในเดือนนี้ ถือเป็นอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนต้นทุนการขนส่งของตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตไปยุโรปเพิ่มขึ้นสี่เท่าเป็น 4,452 ดอลลาร์ ใกล้แตะอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
ขณะที่บริษัทเดสคาร์เทส ดาต้ามิน บริษัทวิจัยสัญชาติอเมริกัน ระบุว่า จำนวนของตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งสินค้าจากเอเชียไปสหรัฐในเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 23.6% นำโดยกลุ่มสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ที่มีการขนส่งเพิ่มขึ้น 23.9% ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา สินค้าประเภทเครื่องเล่นเกม ทะยานขึ้น 21.6% ขณะทีสินค้าอื่นๆอย่างเช่นเหล็ก เพิ่มขึ้นแค่ 1% ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์เพิ่มขึ้น 5.9%
“ตราบใดที่ยอดขายบ้านไม่ปรับตัวลดลง ความต้องการด้านการขนส่งทางเรือไปสหรัฐยังงแข็งแกร่งต่อไป”ตัวแทนบริษัทชิปปิ้งรายหนึ่ง กล่าว
ด้านศูนย์ขนส่งสินค้าทางเรือญี่ปุ่น ระบุว่า ขณะที่การขนส่งสินค้าไปยังทวีปยุโรปก็ขยายตัวด้วยเช่นกันแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ยังคงรุนแรงอยู่ โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จากเอเชียไปยุโรปเพิ่มขึ้น 7% ในเดือนต.ค.ถือเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับเดือนดังกล่าว
“แม้ว่าการขนส่งเฟอร์นิเจอร์ไปยุโรปจะไม่มากเท่าไปสหรัฐแต่ก็ยังมีความต้องการขนส่งสินค้าประเภทอื่นๆที่เพิ่มขึ้น อาทิ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมการทำงานจากที่บ้าน ”เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากบริษัทชิปปิ้งของตะวันตก กล่าว
ขณะที่กระแสนิยมอี-คอมเมิร์ซในญี่ปุ่นไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่หนุนให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้นแต่การขนส่งสินค้าทางบกที่ใช้รถบรรทุกและศูนย์กลางด้านโลจิสติกที่ให้บริการขนส่งสินค้าไม่ทันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือขยายตัวต่อเนื่อง และญี่ปุ่นก็เป็นแหล่งผลิตสินค้าประเภทต่างๆที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น อาทิ เฟอร์นิเจอร์ และเตียงนอน ที่ติดท็อป10สินค้าที่มีการขนส่งทางเรือกเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก
ราคาบ้านในญี่ปุ่นเดือนก.ย.ปรับตัวร่วงลง 9.9% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 แต่สินค้าในกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมกลับขยายตัวอย่างรวดเร็วและการจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนทุกคนจำนวน 1แสนเยน(961 ดอลลาร์)ก่อนหน้านี้ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าคงทนมากขึ้น
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตและการช็อปปิง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครือข่ายการขนส่งสินค้า การหันไปเน้นซื้อสินค้าทางออนไลน์ทำให้เกิดภาวะตึงตัวด้านการขนส่งสินค้าทางบกที่ใช้รถบรรทุกตลอดจนบรรดาศูนย์กลางด้านโลจิสติกในญี่ปุ่นทุกแห่งและปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยเช่นกัน เบื้องต้นทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้าทางด้านนี้ปรับตัวขึ้น
ผู้สังเกตุการณ์ในอุตสาหกรรมหลายคนคาดการณ์ว่า ความต้องการสินค้าที่แข็งแกร่งและการขาดแคลนตู้คอนเทนเทอร์ยังคงเกิดขึ้นในระยะสั้น ขณะที่อัตราค่าระวางที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าต้นทุนขนส่งสินค้าสำหรับภาคธุรกิจจะพลอยเพิ่มขึ้นไปด้วย และท้ายที่สุดผู้บริโภคอาจต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น