โบอิง 'เครื่องยนต์ขัดข้อง' ฉุดมั่นใจการบินโลก
เหตุการณ์เครื่องยนต์ขัดข้องของ "โบอิง" ผู้ผลิคเครื่องบินยักษ์ใหญ่ ฉุดความมั่นใจอุตสาหกรรมการบินโลก ขณะที่ทางการสหรัฐเริ่มตรวจสอบว่าเครื่องบินโบอิง777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ รุ่นพีดับเบิลยู 4000 มีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่
ปัญหาความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศ กลับมาเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุ เครื่องบินโบอิง777 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ประสบเหตุเครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องขอลงจอดฉุกเฉินแต่ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์หลุดลงใส่บ้านเรือนผู้คน แม้ไม่มีความเสียหายของทรัพย์สินเกิดขึ้น หรือไม่มีคนได้รับบาดเจ็บ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องบิน
หลังจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ( เอฟเอเอ ) ออกแถลงการณ์ว่า เที่ยวบินยูเอ328 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ใช้เครื่องบินโดยสารโบอิง 777-200 พร้อมผู้โดยสาร 231 คน และลูกเรือ 10 คน ประสบปัญหาเครื่องยนต์ด้านขวาขัดข้อง ระหว่างเดินทางจากเมืองเดนเวอร์ ในรัฐโคโลราโด ไปยังเมืองโฮโนลูลู ในรัฐฮาวาย เมื่อวันเสาร์(20ก.พ.)แม้ว่านักบินสามารถนำเครื่องบินกลับไปลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินเดนเวอร์ได้อย่างปลอดภัย แต่ระหว่างทางมีชิ้นส่วนบางชิ้นจากบริเวณเครื่องยนต์ตกลงสู่ด้านล่าง แต่โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
หลังเกิดเหตุหน่วยงานทุกแห่งที่เกี่ยวข้องขอความร่วมมือประชาชนอย่าแตะต้อง และเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนเหล่านั้น หากพบวัตถุน่าสงสัยอาจมาจากเครื่องบินโดยสาร ให้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ ด้านคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ ( เอ็นทีเอสบี ) เป็นหน่วยงานหลักของการตรวจสอบชิ้นส่วนซึ่งหลุดออกมาจากเครื่องบิน
ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า เครื่องยนต์โบอิง777 ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้หลังจากที่เครื่องบินบินขึ้นจากทางวิ่ง 25 และกำลังไต่ระดับ เครื่องยนต์ด้านขวารุ่น PW4077ก็เกิดระเบิดขึ้นและชิ้นส่วนหลุดกระจายไปในท้องฟ้า นักบินหยุดการไต่ระดับและคงความสูงไว้ที่ 13000 ฟุต จากนั้นนักบินขอลงจอดฉุกเฉินที่เดนเวอร์อีกครั้ง และสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยเข้าดับเพลิงบริเวณเครื่องยนต์ และอพยพผู้โดยสารไปยังพื้นที่ปลอดภัย แต่เศษซากเครื่องยนต์ PW4077 หลุดกระจายเป็นระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร โดยตกลงบนบ้านเรือนและสนามกีฬา
ขณะที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยการเดินทางทางอากาศของญี่ปุ่น เรียกร้องให้สายการบินทุกแห่ง ระงับใช้เครื่องบินโบอิง777 ชั่วคราวหลังเครื่องบินรุ่นนี้ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องลงจอดที่สนามบินนานาชาติซานฟรานซิสโก
สำนักงานการบินพลเรือนของญี่ปุ่น เรียกร้องบรรดาสายการบินทุกแห่งของญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องบินโดยสารรุ่น 777 ของบริษัทโบอิง โค ที่ใช้เครื่องยนต์ของบริษัทแพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ 4000 ชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศครั้งต่อไป
ส่วนโบอิง ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐ แนะสายการบินทั่วโลกให้หยุดใช้เครื่องบิน 777 บางรุ่น หลังสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ(เอฟเอเอ) สั่งสอบเครื่องบินรุ่นโบอิง 777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่น PW4000 หลังเครื่องบินรุ่นดังกล่าวประสบเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องจนต้องลงจอดฉุกเฉิน
โบอิง ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีเครื่องบินรุ่นนี้ให้บริการทั้งหมด 69 ลำ ขณะที่ อีก 59 ลำยังอยู่ในคลัง เนื่องจากความต้องการเครื่องบินที่ลดลงจากการระบาดของโรคโควิด-19
คำแนะนำของโบอิงเกิดขึ้นหลังจากเอฟเอเอออกคำสั่งให้เริ่มกระบวนการตรวจสอบความสมควรเดินอากาศฉุกเฉิน หรือตรวจสอบว่าเครื่องบินจากบริษัทโบอิงของสหรัฐรุ่น 777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ รุ่นพีดับเบิลยู 4000 (PW4000) มีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ โดยคำสั่งดังกล่าวหมายความว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวบางลำต้องหยุดการให้บริการ
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ของเอฟเอเอ ยังระบุว่า ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส เป็นสายการบินเพียงแห่งเดียวในสหรัฐที่มีเครื่องยนต์รุ่น PW4000 อยู่ในฝูงบิน
ด้านสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ออกแถลงการณ์ เมื่อวันอาทิตย์(21ก.พ.)ว่า จะยุติการให้บริการเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 24 ลำเป็นการชั่วคราว
“แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์” ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องยนต์สัญชาติอเมริกันและเป็นบริษัทลูกของเรย์ธีออน เทคโนโลยี ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
อุบัติเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องที่เกิดกับเครื่องบินโดยสารโบอิงตระกูล 777 เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลแคนาดายกเลิกคำสั่งห้ามเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ขึ้นบินเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐ ที่อนุญาตให้นำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวขึ้นบินได้อีกครั้ง หลังจากที่สั่งระงับบินเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เนื่องมาจากเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ประสบอุบัติตก 2 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 346 คน
คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการขนส่งของแคนาดาออกข้อกำหนดสมควรเดินอากาศให้กับบรรดาเจ้าของเครื่องบิน, วิศวกรด้านการบำรุงรักษาเครื่องบิน และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนในต่างประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้กับลูกเรือของสายการบินต่างๆ
สายการบินแอร์แคนดานำเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ขึ้นบินในวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาและเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางอเมริกาเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ปี2563 สำนักงานเอฟเอเอยกเลิกคำสั่งระงับการใช้งานเชิงพาณิชย์ของเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ หลังดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างครอบคลุมและรอบคอบ ซึ่งใช้เวลานาน 20 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ของเอฟเอเอ สามารถระบุและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุโศนาฏกรรมเครื่องบินตกที่คร่าชีวิตผู้โดยสารเครื่องบิน 346 ราย ในเที่ยวบินที่ 302 ของสายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ส และเที่ยวบินที่ 610 ของสายการบินไลออน แอร์ไลน์