ฉีดวัคซีนหนุนศก.-5ชาติอาเซียน'ไทยแย่สุด'

ฉีดวัคซีนหนุนศก.-5ชาติอาเซียน'ไทยแย่สุด'

มหกรรมการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์กำลังดำเนินอยู่ เพราะนั่นคือหนทางเดียวที่จะเอาชนะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพื่อให้มนุษย์กลับไปใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้งหนึ่งและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วกว่า 673 ล้านโดสใน 155 ประเทศ คิดเป็นอัตรา 4.4% ของประชากรโลก อัตราล่าสุดอยู่ที่ราว 16.2 ล้านโดสต่อวัน

ในสหรัฐคนอเมริกันที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส มีมากกว่าคนที่ติดโควิด ถึงขณะนี้ชาวอเมริกันรับวัคซีนแล้ว 167 ล้านโดส ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยการฉีดที่ 3.05 ล้านโดสต่อวัน

การฉีดวัคซีนส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์เอเชียปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ผลจากการฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว ศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อวิจัยเศรษฐกิจ (เจซีอีอาร์) และนิกเคอิสำรวจความคิดเห็นประจำไตรมาส ระหว่างวันที่5-26 มี.ค. นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ให้ข้อมูลรวม 40 ราย

ผู้ให้ข้อมูลมองว่า 5 ประเทศอาเซียนที่กล่าวมาเศรษฐกิจจะเติบโตเป็นบวกในปีนี้ หลังจากร่วงอย่างหนักในปี 2563 พวกเขาปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย จากผลการสำรวจครั้งก่อนที่ทำไว้ในเดือน ธ.ค.

สิงคโปร์ปีนี้เศรษฐกิจจะโตถึง 6.1% เพิ่มจาก 4.5% จากครั้งก่อน อินโดนีเซียขยายตัว 3.9% จาก 3.6% ในการสำรวจก่อนหน้า อินเดียจีดีพีโต 11.2% จากคาดการณ์เดิม 9.1%

เหตุผลสำคัญที่ต้องปรับเพิ่มคือโครงการฉีดวัคซีนของทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียค่อนข้างประสบความสำเร็จ อินโดนีเซีย ประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่เสียหายจากโควิดหนักสุดเมื่อปีก่อน เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเดือน ม.ค.

“เราหวังให้การฉีดวัคซีนเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้เศรษฐกิจเติบโตและฟื้นตัวได้ในปีนี้ เพื่อกลับเข้าสู่ระดับปกติหรือระดับก่อนโควิดในปี 2562” เดนดี รามดานี จากธนาคารมันดิรี ในกรุงจาการ์ตากล่าว

วิษณุ วาร์ดานา จากธนาคารดานามอนของอินโดนีเซีย เห็นพ้อง “การฉีดวัคซีนดีขึ้น และค่อนข้างดีกว่าเพื่อนบ้าน” ซึ่งรามดานีเสริมว่านโยบายการเงินในอินโดนีเซียก็มีส่วนช่วยด้วย การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำส่งผลดีช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

ผลการสำรวจของเจซีอีอาร์ชี้ เหล่านักวิเคราะห์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียจะวนเวียนอยู่ที่ราว 3.55% ในครึ่งหลังของปีนี้ ลดจาก 3.75% ในไตรมาส 4 ของปี 2563 แต่สูงกว่าระดับปัจจุบันที่ 3.5%

อย่างไรก็ตาม วาร์ดานาไม่เชื่อว่า อินโดนีเซียจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ธนาคารกลางน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5% ถ้าการฟื้นตัวเป็นไปตามแผนธนาคารกลางอินโดนีเซียน่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2565

ส่วนสิงคโปร์น่าจะฟื้นตัวในปีนี้เช่นกัน แม้ว่าเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการภายนอกเป็นหลัก มานุ ภัสการัณ จากเซนเทนเนียลเอเชียแอดไวเซอร์ส บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาในสิงคโปร์ กล่าว่า การรุกฉีดวัคซีนเปิดทางให้ประเทศสำคัญของโลกเปิดเศรษฐกิจและกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้งหนึ่ง จีดีพีสิงคโปร์จึงน่าจะโตได้ดี

สิงคโปร์ฉีดวัคซีนโควิดอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เกือบ 7,000 โดสต่อประชากร 1 ล้านคน สูงกว่าประเทศเอเชียอื่นๆ อยู่มากเนื่องจากสิงคโปร์มีประชากรน้อยแค่ 5.7 ล้านคน การฉีดวัคซีนจึงทำได้ง่ายกว่าและรวดเร็วกว่า

สำหรับอินเดีย นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ปีนี้อินเดียจะฟื้นตัวเร็วเช่นกัน ถ้าสามารถรักษาอัตราการฉีดวัคซีนระดับนี้ไว้ได้ ตอนนี้การติดเชื้อในอินเดียพุ่งขึ้นมาก วันที่ 5 เม.ย.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 103,558 คน พุ่งขึ้นสูงสุดใน 1 วัน ส่งผลยอดสะสมทั้งประเทศที่ 12.59 ล้านคน เสียชีวิต 165,101 คน

อย่างไรก็ตาม ติรธันการ์ ปัตนายิก จากตลาดหลักทรัพย์อินเดีย กล่าวว่า การที่รัฐบาลใช้การคลังแก้ปัญหาอย่างแข็งแกร่งและใช้จ่ายฝ่ายทุนมากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ขณะที่ธรรมกีรติ โจชี จากซีอาร์ไอเอสไอแอล บริษัทจัดอันดับในอินเดียมองดีไปกว่านั้นอีก คาดว่า อินเดียจะกลับมาเหมือนเดิมภายในสิ้น ก.ย.

ส่วนเศรษฐกิจระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. ผู้ให้ข้อมูลมองว่า สิงคโปร์ อินเดีย และอินเดีย จะหดตัวน้อยกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย

การคาดการณ์ทั้งปีของ 3 ประเทศถูกปรับลงเล็กน้อยเช่นกัน เพราะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชากรช้ากว่าสิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย

คาร์โล อซันเชียนจากยูเนียนแบงก์ฟิลิปปินส์ คาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิดได้ก็ต้องรอถึงกลางปี 2565 เท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขว่าสามารถฉีดวัคซีนได้สำเร็จ

“เราคาดว่า ภายในสิ้นปี 2564 ชาวฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนแล้ว 70 ล้านคน อย่างน้อยๆ 60% ก็ต้องได้วัคซีนซึี่งมากพอสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”

จีดีพีปี 2564 ของมาเลเซียก็ถูกปรับลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ 5.3% จาก 5.9% เนื่องจากเกิดการติดเชื้อระลอกใหม่เมื่อต้นเดือน ม.ค.

วัน สุเฮมี จากเคนันกาอินเวสท์เมนท์แบงก์มองเห็นความเสี่ยงขาลงของมาเลเซียหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนช้ากว่าคาด ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน และสหรัฐ-อิหร่านระอุขึ้นอีกครั้ง

ในภาพรวมคาดว่าไทยแย่ที่สุด นักวิเคราะห์ปรับลดการเติบโตเหลือแค่ 2.6% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.5% ในเดือนธ.ค.

“ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งจ้างงานสูงมากในประเทศไทย เสียหายหนักจากโควิด ต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่” ลลิตา เธียร์ประสิทธิ์จากศูนย์วิจัยกสิกรให้ความเห็น

ส่วนตลาดแรงงานไทยยังคงเปราะบางต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 12% ของจีดีพีไทย ลลิตาเชื่อว่า การว่างงงานในหมู่แรงงานราคาถูกไร้ทักษะยังคงสูงต่อไป ทำให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้เพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจของเจซีอีอาร์พบว่า ในปี 2563 การว่างงานของไทยเพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2562 ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.9%

หากมอง 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เศรษฐกิจเติบโตรวมกันน่าจะทะลุ 5.5% ในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5% เมื่อเดือน ธ.ค.

นักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงสำคัญอันหนึ่งต่อการฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้น โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ที่คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็น 4.5% ในปีนี้ จาก 2.7% ในครั้งก่อน

นิโคลัส มาปา จากไอเอ็นจีแบงก์ฟิลิปปินส์อธิบายว่าอหิวาต์สุกรแอฟริกันดันราคาเนื้อสุกรพุ่ง พร้อมกันนั้นราคาน้ำมันดิบโลกก็ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม

ทั้งนี้ อหิวาต์สุกรแอฟริกันปะทุขึ้นในจีนเมื่อปี 2561 ซึ่งฟิลิปปินส์ยังคงได้รับผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสิงคโปร์แม้สกัดโควิดได้สำเร็จ แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การว่างงานเพิ่มขึ้นถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สุดของสิงคโปร์