อภิมหาเศรษฐีฟอร์บสปี 64 ‘เจฟฟ์ เบซอส’เบอร์1โลก
อภิมหาเศรษฐีฟอร์บสปี 64 ‘เจฟฟ์ เบซอส’เบอร์1โลก ติดอันดับ 2,755 คน สหรัฐครองแชมป์
นิตยสารฟอร์บสจัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านประจำปี 64 เจฟฟ์ เบซอส ครองอันดับ 1 โลก ไทยติดลิสต์ 29 คน “เจ้าสัวธนินท์” รวยที่สุด
เว็บไซต์ฟอร์บสรายงานว่า ปี 64 เป็นปีที่ไม่เหมือนใคร เพราะโลกไม่ได้มีแค่เรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่หลายบริษัทแห่กันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ราคาคริปโตเคอเรนซีพุ่ง ราคาหุ้นสูงลิ่ว ส่งผลต่อการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีในปีนี้
การจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีประจำปีของฟอร์บสซึ่งเป็นปีที่ 35 มีจำนวนมากถึง 2,755 คน เพิ่มขึ้น 660 คนจากปี63 เศรษฐีหน้าใหม่ที่เพิ่งติดอันดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 493 คน หรือเพิ่มขึ้น 1 คนทุกๆ 17 ชั่วโมง ในจำนวนนี้มาจากจีนและฮ่องกง 210 คนอีก 250 คนที่เคยตกอันดับไปในอดีตก็กลับมาอีกครั้ง 86% รวยขึ้นกว่าปีก่อน
เจฟฟ์ เบซอส จากอเมซอน ร่ำรวยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่ 1.77 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่อีลอน มัสก์จากเทสลาพุ่งขึ้นมาอยู่อันดับ 2 มั่งคั่ง 1.51 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาหุ้นอเมซอนและเทสลาเพิ่มขึ้นมาก
เบซอสนั้นก่อตั้งอเมซอน ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซขึ้นมาเมื่อปี 2537 จากโรงรถที่ซีแอตเติล ปลายปีนี้เขาจะลงจากตำแหน่งซีอีโอแล้วมานั่งเป็นประธานบริหารแทน ส่วนมัสก์ ได้ชื่อว่าปฏิวัติการขนส่งทั้งบนผืนพิภพผ่านเทสลา บริษัทผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และในอวกาศผ่านบริษัทผลิตจรวดสเปซเอ็กซ์
อันดับ 3 คือเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ และครอบครัว จากแอลวีเอ็มเอช ธุรกิจแฟชั่นและค้าปลีก มั่งคั่งสุทธิ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ อาร์โนลต์ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสุดยอดรสนิยมคนหนึ่งของโลก ดูแลอาณาจักรธุรกิจ 70 แบรนด์ เช่น หลุยส์วิตตอง, เซฟอรา
อันดับ 4 บิล เกตส์ จากไมโครซอฟท์ 1.24 แสนล้านดอลลาร์ เขาและเมลินดา ภรรยา เป็นประธาน “มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์” มูลนิธิการกุศลเอกชนรายใหญ่สุดของโลก
อันดับ 5 มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จากเฟซบุ๊ค 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์ โซเชียลเน็ตเวิร์กของซัคเคอร์เบิร์ก กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ขาดไม่ได้ในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์เพราะโควิด
เศรษฐีหุ้นอย่างวอร์เรน บัฟเฟต ครองอันดับ 6 มั่งคั่งสุทธิ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จตลอดกาลคนหนึ่งของโลก
ชาวเอเชียที่มั่งคั่งที่สุดคือมูเกซ อัมบานี จากอินเดีย ครองอันดับ 10 ที่ 8.45 หมื่นล้านดอลลาร์ เขาเป็นประธานผู้อำนวยการจัดการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทรีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี โทรคมนาคมและค้าปลีก
คนที่ร่ำรวยที่สุดในจีนมาจากธุรกิจเครื่องดื่มและยาคือจง ซานซาน ประธานบริษัทน้ำดื่มบรรจุขวด “หนงฟู่สปริง” จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา จงร่ำรวยอยู่ในอันดับ 13 ของฟอร์บส ด้วยความมั่งคั่งสุทธิ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์
ส่วนหม่า หัวเติ้ง เพื่อนร่วมชาติร่ำรวยใกล้ๆ กันที่อันดับ 15 มั่งคั่งสุทธิ 6.58 หมื่นล้านดอลลาร์ หม่าเป็นประธานเทนเซ็นต์โฮลดิงส์ บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน ด้าน แจ็ค หม่า ครองอันดับ 26 มั่งคั่ง 4.84 หมื่นล้านดอลลาร์
คนที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นคือมาซาโยชิ ซัน จากซอฟท์แบงก์กรุ๊ป อยู่ในอันดับ 29 ของฟอร์บส 4.54 หมื่นล้านดอลลาร์
บรรดาอภิมหาเศรษฐีไทยติดอันดับ 29 คน เบอร์หนึ่งของประเทศ หรืออันดับ 103 ของฟอร์บส คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่สุดของโลกรายหนึ่ง มั่งคั่งสุทธิ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์
เบอร์ 2 ของไทยที่ครองอันดับ 156 ฟอร์บสคือเจริญ สิริวัฒนภักดี 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ คนอื่นๆ ที่ติดอันดับหลายคนมาจากตระกูลเจียรวนนท์ อันดับสุดท้ายของไทย อันดับ 2674 ของฟอร์บสคือฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธาน เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ร่ำรวย 1 พันล้านดอลลาร์
สิงคโปร์ ติดอันดับ 1 คน คือชูปิง จากธุรกิจร้านอาหาร มั่งคั่ง 5.5 พันล้านดอลลาร์ อยู่ในอันดับ 502 เช่นเดียวกับเวียดนามที่ติดลิสต์มาเพียง 1 คน คือ เหวียน ทิ ฟุง เถ่า นักธุรกิจหญิงจากเวียดเจ็ตแอร์ มั่งคั่ง 2.8 พันล้านดอลลาร์ ครองอันดับ 1111 ของฟอร์บส มหาเศรษฐีพันล้านหญิงคนแรกของประเทศรายนี้ นำสายการบินราคาประหยัดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ก.พ.60
ส่วนผู้หญิงรวยที่สุดในโลกคือฟรังซัวส์ เบตเทนคอร์ท ไมเออร์ จากลอรีอัล ครองอันดับ 12 ด้วยสินทรัพย์ 7.36 หมื่นล้านดอลลาร์
ในภาพรวมเหล่าอภิมหาเศรษฐีร่ำรวยรวมกัน 13.1 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 63 สหรัฐติดลิสต์มากที่สุด 724 คน ตามด้วยจีน (รวมฮ่องกงและมาเก๊า) 698 คน โดยฟอร์บสคำนวณความร่ำรวยจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.เพื่อหาความมั่งคั่งสุทธิ