อัตราเกิดใหม่ทั่วโลก 'ต่ำ' ฉุด 'เศรษฐกิจ' ฟื้นช้า
อัตราเกิดใหม่ทั่วโลกต่ำฉุดเศรษฐกิจฟื้นช้า ขณะข้อมูลในฮ่องกงบ่งชี้ว่าอัตราการเกิดของประชากรบนเกาะนี้ร่วงลง 56% ในเดือนม.ค. ในไต้หวันลดลง 23% ส่วนในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นกัน
ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น หลายประเทศก็เป็นสังคมสูงวัยหรือเตรียมตัวที่จะเป็นสังคมสูงวัยกันอยู่แล้ว แต่พอเกิดโรคระบาดใหญ่ ยิ่งเร่งเวลาให้ประชาคมโลกเป็นสังคมสูงวัยกันเร็วขึ้น หากยึดตามตัวเลขอัตราการเกิดใหม่ของประชากรโลกล่าสุดนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเกิดทั่วโลกในเดือนธ.ค.และม.ค. เก้าเดือนหลังจากหลายประเทศเริ่มรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนภาพอันขุ่นมัวด้านการเติบโตของประชากรโลกและอาจเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก
อัตราการเกิดในประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสเปนร่วงลงระหว่าง 10% และ 20% และแม้แต่ในบางพื้นที่แนวโน้มการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ลดลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจของประเทศที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำเหล่านี้จะยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและยังคงรักษาโครงข่ายรองรับทางสังคมไว้ต่อไปได้หรือไม่
ขณะที่ข้อมูลล่าสุดในส่วนนี้ของจีนในรายงานชิ้นนี้ยังไม่มีการเปิดเผย แต่ก่อนหน้านี้ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราประชากรปี 2563 ไว้ว่า มีคนเกิดราว 10.03 ล้านคน ลดลง 14.9% เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีประชากรเกิด 11.79 ล้านคน ถือเป็นอัตราการเกิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่จีนสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492
ส่วนข้อมูลในฮ่องกง บ่งชี้ว่าอัตราการเกิดของประชากรบนเกาะนี้ร่วงลง 56% ในเดือนม.ค. ในไต้หวันลดลง 23% ส่วนในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งมีปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำอยู่แล้วและเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเกิดใหม่ของประชากรร่วงลง 6.3% และ 14% ตามลำดับ
สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ระบุว่า อัตราการเกิดของเด็กทารกต่อผู้หญิงเกาหลีใต้วัยเจริญพันธุ์ 1 คน ลดลงสู่ระดับ 0.84 ในปี 2563 ถือเป็นการลดลงอีกจากสถิติต่ำสุดเดิมที่ 0.92 ในปี 2562 ส่วนที่กรุงโซล เมืองหลวง มีอัตราการเกิดต่ำยิ่งกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศคืออยู่ที่ 0.64
อัตราการเกิดนี้ถือว่าต่ำที่สุดในบรรดา 180 ประเทศที่เป็นสมาชิกของธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) และต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยที่ 1.73 ของสหรัฐและ 1.42 ของญี่ปุ่น
ปัจจุบัน เกาหลีใต้ มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด ในบรรดา 36 ประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) และกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลโซลแก้ไม่ตกแม้จะใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เพื่อช่วยให้ครอบครัวที่มีบุตรยากมีบุตรเกิดใหม่ในหลากหลายรูปแบบ
ส่วนในอิตาลี ที่ถือเป็นฮอตสปอตแห่งแรกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้วในยุโรป อัตราการเกิดใหม่ร่วงลง 22% ในเดือนธ.ค. สเปน ร่วงลง 20% ในเดือนม.ค. ในฝรั่งเศส ร่วงลง 13% ในเดือนม.ค.ถือว่าลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2518
“สภาพแวดล้อมของวิกฤตสุขภาพและความไม่แน่นอนอย่างมากอาจเป็นปัจจัยหนุนการตัดสินใจของคู่สามีภริยาเลื่อนโครงการมีบุตรออกไปก่อน”ตัวแทนสำนักงานแห่งหนึ่ง กล่าว และว่า มีคู่สามีภริยาจำนวนมากไม่อยากใช้บริการโรงพยาบาลในช่วงที่คราคร่ำไปด้วยผู้ป่วยโรคโควิด-19
ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของชาวญี่ปุ่นส่อเค้าว่าจะต่ำกว่า 800,000 คนในปีนี้ โดยจำนวนสตรีตั้งครรภ์ที่รายงานกับรัฐบาลช่วง10เดือนจนถึงเดือนต.ค.ลดลง 5.1% ถือว่าลดลงมากหลังจากญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ทั่วประเทศเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว
ขณะที่ศูนย์สุขภาพและการพัฒนาเด็กในกรุงโตเกียว รายงานว่า มีการทำคลอด 126 รายการในเดือนม.ค. น้อยกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปี 2563 ประมาณ 30% และที่มีแผนจะคลอดก็ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ตลอดทั้งปีอาจจะต่ำกว่า10% ซึ่งถ้าแนวโน้มยังคงเป็นแบบนี้ ภายในปี 2592 ญี่ปุ่นจะมีประชากรไม่ถึง 100 ล้านคน
"การที่อัตราการเกิดใหม่ของประชากรลดลงอย่างรวดเร็วอาจจะถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประเทศและโครงข่ายรองรับทางสังคม"โฆษกศูนย์สุขภาพและการพัฒนาเด็กในกรุงโตเกียว ให้ความเห็น
แต่รัฐบาลหลายประเทศก็ตระหนักถึงความสำคัญของแนวโน้มนี้และดำเนินการต่างๆเพื่อแก้ปัญหา เช่นในเดือนก.ค.รัฐบาลอิตาลีจะเริ่มให้เงินรายเดือนแก่เด็กเกิดใหม่1คนประมาณ 250 ยูโร(297 ดอลลาร์)ไปจนเด็กคนนั้นมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่น สั่งการให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอสร้างสำนักงานเด็กเกิดใหม่
ในสหรัฐ ประเทศที่เป็นฟันเฟืองการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่มีข้อมูลที่พอหาได้ที่บ่งชี้ว่า รัฐคอนเน็กติคัตมีอัตราการเกิดใหม่ลดลง 14%ในเดือนม.ค.
เมื่ออัตราการเกิดใหม่ลดลงทั่วโลกแบบนี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือประชากรวัยทำงานลดน้อยลงจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ลดลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ทุกประเทศจึงควรเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งรับมือสังคมผู้สูงวัย และการให้ความสำคัญกับอัตราการเกิดใหม่ เพื่อสร้างสมดุลแก่จำนวนประชากรในแต่ละช่วงวัยให้มีความเหมาะสม