จริงหรือไม่? ฉีด 'วัคซีนโควิด' ของจีนแล้วเข้ายุโรป-สหรัฐไม่ได้
หลายประเทศเร่งฉีด "วัคซีนโควิด" ให้ประชากรของตน หวังเปิดประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับมีดราม่า เมื่อจีนเปิดประเทศให้เดินทางเข้าจีนได้ แต่ต้องฉีดวัคซีนของจีนเท่านั้น ขณะที่สหรัฐ-ยุโรป ไม่รับรองวัคซีนของจีน
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกิดกระแสดราม่าเกี่ยวกับ "วัคซีนโควิด" ขึ้นมาซะอย่างนั้น มีรายงานข่าวว่าจีนเริ่มเปิดประเทศ และจะอนุมัติวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตจากจีนเท่านั้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและฝั่งยุโรปไม่รับรองวัคซีนที่ผลิตจากจีน ส่วนไอซ์แลนด์ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนของจีนหรือของรัสเซียเดินทางเข้าประเทศ
ดูเหมือนว่าการเลือกชนิดวัคซีนที่คุณต้องการจะฉีด อาจมีผลต่อการเดินทางข้ามประเทศไปยังประเทศปลายทางที่ต้องการ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปส่องรายละเอียดพร้อมอัพเดทล่าสุดในประเด็นนี้กัน
- อยากเดินทางเข้าจีน ต้องฉีด "วัคซีน" ของจีนจริงหรือ?
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 สำนักข่าว theguardian รายงานว่า จีนกำลังดำเนินการต่อวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลายประเทศ แต่จะอนุมัติให้ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจีนเท่านั้น โดยทางการของจีนเริ่มเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจีนได้แล้ว ได้แก่ ฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อินเดีย, ออสเตรเลีย, อิรัก, ไทย, โครเอเชีย, อิสราเอล, ปากีสถาน, และฟิลิปปินส์
ในครั้งนั้น จีนออกนโยบายว่าผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าจีน จะต้องได้รับวัคซีนชนิดสองเข็มหรือวัคซีนเข็มเดียวอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง ซึ่งวัคซีนนั้นจะต้องเป็นวัคซีนผลิตในประเทศจีนเท่านั้น ส่วนคนที่มีผลตรวจโควิดเป็นลบและกักตัวครบเวลาแล้ว ก็สามารถเดินทางเข้าจีนได้เช่นกัน
ทำให้บางประเทศอย่าง ออสเตรเลีย แม้ว่าได้รับการเสนอจากจีนให้เดินทางเข้าประเทศจีนได้ แต่วัคซีนโควิด-19 ที่ออสเตรเลียใช้อยู่มีเพียงวัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนก้า ก็จะถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ของจีนอยู่ดี
พอล กริฟฟิน แพทย์ด้านโรคติดเชื้อในออสเตรเลียกล่าวว่า เป็นไปได้ที่หน่วยงานกำกับดูแลของออสเตรเลียจะอนุมัติวัคซีนโควิด-19 จีนในที่สุด
- ไทยชี้ จีนไม่ได้ห้ามคนที่ฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ เข้าประเทศ
ต่อมาในวันที่ 24 มี.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กรณีที่ประเทศจีนระบุว่า อนุญาตให้คนที่ฉีดวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนเดินทางเข้าประเทศเท่านั้น ตรงนี้ทางการจีนไม่ได้ห้ามคนที่ฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ของประเทศอื่นๆ เข้าไป
แต่อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าประเทศจีนได้อยู่แล้ว เพียงแต่หากฉีดวัคซีนของจีนก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ
ด้าน จ้าว ลี่เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เปิดเผยว่า นโยบายนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับวัคซีนโควิด-19 ของจีน แต่เกิดขึ้นหลังจากพิจารณาถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพอย่างถี่ถ้วนของวัคซีนที่ผลิตจากจีน
- วัคซีนโควิดของจีน ไม่อนุมัติใช้ในหลายประเทศ
ในทางกลับกัน วัคซีนโควิด-19 ของจีนเอง ก็ไม่ได้รับการอนุมัติใช้ในหลายประเทศเช่นกัน สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่านักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนของจีนและรัสเซียอาจเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในการเดินทางข้ามประเทศ
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่รับรองวัคซีนที่ผลิตจากจีน ด้านไอซ์แลนด์ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนของจีนและของรัสเซียเดินทางเข้าประเทศ
เรื่องนี้ยืนยันจากประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ระบุชัดเจนว่ายุโรปอาจอนุญาตให้ชาวอเมริกันเดินทางเข้ายุโรปได้ โดยต้องฉีด "วัคซีนโควิด" ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานคณะกรรมการอาหารและยาของพวกเขาเท่านั้น
กรณีนี้ทำให้นักท่องเที่ยว/นักธุรกิจ ที่ต้องการเดินทางข้ามประเทศเกิดความกังวลใจ เพราะหากเลือกฉีดวัคซีนโควิดจากจีน แน่นอนว่าเดินทางเข้าจีนได้ แต่อาจถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศฝั่งยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาถูกจำกัดตัวเลือกในการเดินทาง
- จำใจใช้ "วัคซีนโควิด" ตามประเทศปลายทางกำหนด
ตัวอย่างของเคสที่จำใจใช้วัคซีนโควิด ชนิดที่ประเทศปลายทางรับรองและอนุมัติ เช่นกรณีของ Marie Cheung หญิงชาวฮ่องกงที่ต้องเดินทางไปทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่ จากตัวเลือกวัคซีน 2 ยี่ห้อที่เธอมีสิทธิ์เข้าถึง ได้แก่ ชนิดแรกคือ Sinovac Biotech ของจีน และชนิดที่สองคือ Pfizer-BioNTech หญิงคนนี้เลือกที่จะลงทะเบียนรับวัคซีน Sinovac เพื่อให้เธอเดินทางเข้าออกจีนแผ่นดินใหญ่ได้ง่ายขึ้น
ในขณะเดียวกัน สามีชาวอังกฤษของเธอ กลับต้องเลือกฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เพื่อเพิ่มโอกาสในการเดินทางเข้าไปยังสหราชอาณาจักร ในการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว (เนื่องจากอังกฤษไม่รับรองวัคซีนของจีน)
- นักวิชาการชี้ ความแบ่งแยกด้านวัคซีนจะมีมากขึ้น
นิโคลัส โทมัส รองศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงทางสุขภาพ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้ความเห็นว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะได้รับวัคซีนโควิดชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน พวกเขาย่อมต้องการเลือกวัคซีนที่ตัวเองเชื่อมั่น แต่กลับเลือกไม่ได้
ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่าแม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ผู้คนก็ยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทางข้ามประเทศ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปอีกระยะยาว
“การแบ่งกลุ่มคนทั่วโลกตามการใช้วัคซีน จะทำให้การระบาดของโควิดรุนแรงขึ้น และยังคงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองตากมาไม่หยุดหย่อน อีกทั้ง มันเสี่ยงที่โลกจะถูกแบ่งออกเป็นไซโลวัคซีน ตามลัทธิชาตินิยมของวัคซีน มากกว่าความจำเป็นทางการแพทย์”
- การเดินทางข้ามประเทศจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ หากแบนวัคซีนกันและกัน
ล่าสุด.. วันที่ 26 เม.ย.64 South China Morning Post รายงานว่าจีนผ่อนปรนข้อกำหนดเรื่องการขอวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนของจีนในเดือนมีนาคม 2564 แล้ว รวมถึงสามารถข้ามการทดสอบ Covid-19 หรือกรอกแบบฟอร์มการแจ้งการเดินทางได้
ด้านสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนของยุโรป สามารถเดินทางเข้าประเทศจีนได้ หากพวกเขาเดินทางขาออกมาจากดัลลัสในเท็กซัส และสื่อทางการของรัฐบาลจีนยังชี้แจงแล้วว่า วัคซีนจาก Pfizer-BioNTech มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางปีนี้
-----------------------
อ้างอิง :