รายงานประชุมชี้เฟดกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อ
รายงานประชุมชี้เฟดกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อ ส่งสัญญาณเตรียมปรับลด QE
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมของวันที่ 27-28 เม.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หลังจากที่เฟดได้คงนโยบายผ่อนคลายการเงินในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
กรรมการเฟดส่วนหนึ่งได้เสนอให้มีการเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว, จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนในสหรัฐได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น
"กรรมการเฟดหลายคนมองว่า หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างรวดเร็วสู่เป้าหมายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับขนาดของวงเงินในโครงการ QE แต่ก็มีกรรมการบางคนคนกล่าวว่า การหารือในเรื่องดังกล่าวควรชะลอออกไปก่อน จนกว่าการจ้างงานของสหรัฐจะขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพตามเป้าหมายของเฟด" รายงานประชุมเฟดระบุ
ในการประชุมเมื่อวันที่ 27-28 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมประกาศว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
นอกจากนี้ ในการประชุมวันดังกล่าว เฟดยังคงเน้นย้ำว่า เฟดต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร ขณะเดียวกันเฟดระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการสนับสนุนด้านนโยบาย
แถลงการณ์ภายหลังการประชุมในวันดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ และฉุดเศรษฐกิจของสหรัฐและทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการใช้นโยบายสนับสนุนที่แข็งแกร่งนั้น สัญญาณบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดยังคงอ่อนแอ แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าหลายภาคส่วนได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัจจัยต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ส่วนภาวะทางการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงมาตรการด้านนโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจัดสรรสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐ